มะเร็งเต้านมของคุณเป็นแบบไหน
โรคมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงจำเป็นต้องอาศัยผลการตรวจหลายอย่างประกอบกัน ทั้งจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงผลชิ้นเนื้อจากการเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจหรือผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัด โดยรายงานผลชิ้นเนื้อนั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม เลือกวิธีการรักษา และการตัดสินใจผ่าตัด โดยดูจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- มีการลุกลามจากท่อหรือต่อมน้ำนมหรือไม่ (Invasive หรือ Non-invasive
- เซลล์ Grading
- อัตราการเติบโต (Ki-67)
- ขนาดของก้อนมะเร็ง (Size)
- ขอบเขตการผ่าตัดก้อนมะเร็ง (Surgical Margin)
- การแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง (Lymph Node Involvement)
- การติดตัวรับฮอร์โมนของก้อนมะเร็ง (Hormone Receptor Status)
- การติดตัวรับ HER 2 (HER 2 Status)
- การไม่มีการติดตัวรับใดๆ (Triple Negative)
1. มีการลุกลามจากท่อหรือต่อมน้ำนมหรือไม่ (Invasive หรือ Non-invasive)
มะเร็งเต้านมมีต้นกำเนิดมาจาก “เซลล์ต่อมน้ำนม” (lobular) ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำนม หรือมาจากตัวท่อน้ำนม (Ductal) ที่ทำหน้าที่นำน้ำนมไปที่ลานนม โดยผลชิ้นเนื้อจะช่วยแยกเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งเต้านมได้ และบอกได้ว่ามีการลุกลามออกจากต่อมน้ำนมหรือท่อน้ำนมด้วยหรือไม่ (Non-invasive or Invasive) ในบางรายอาจพบมะเร็งเต้านมที่มีทั้งการลุกลามและไม่ลุกลามออกจากตัวท่อหรือต่อมน้ำนมร่วมกัน โดยในการรักษาเราจะยึดตามผลชิ้นเนื้อที่มีการลุกลามเสมอ และยังมีบางรายที่อาจจะมีมะเร็งเต้านมทั้งชนิด ต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมรวมกัน เรียกว่า “Invasive Mammary Breast Cancer” ทั้งนี้ นอกจากชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งเต้านมที่จะทำให้ผลการรักษาแตกต่างกันแล้ว ตำแหน่งและจำนวนก้อนมะเร็งเต้านมยังส่งผลต่อการรักษาอีกด้วย โดย Multifocal Breast Cancer คือการมีก้อนมะเร็งเต้านมหลายก้อน แต่ทุกก้อนอยู่ในเต้านมข้างเดียวกันส่วนเดียวกัน (Same Section) ส่วน Multicentric Breast Cancer คือ การที่มีก้อนมะเร็ง กระจายอยู่ในหลายส่วนในเต้านมข้างเดียวกัน ซึ่งการที่มะเร็งเต้านมที่มีหลายก้อนกระจายตำแหน่งแตกต่างกันจะมีผลต่อการตัดสินใจต่อการรักษาของแพทย์
2. เซลล์ Grading
รายงานผลชิ้นเนื้อนั้นนอกจากจะสามารถระบุ ชนิดของเซลล์มะเร็งได้แล้ว ยังสามารถแบ่งเกรดได้อีกด้วย โดยดูจากหน้าตาและรูปแบบของการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเกรดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
- Grade 1 หรือ Low Grade หรือ Well Differentiated
- Grade 2 หรือ Intermediated Grade หรือ Moderately Differentiated
- Grade 3 หรือ High Grade หรือ Poorly Differentiated
Grading บ่งบอกถึงความสามารถในการแบ่งตัวของเซลล์ ว่าสามารถแบ่งตัวได้ช้าหรือเร็ว โดย High Grade Breast Cancer เซลล์จะแบ่งตัวได้เร็วกว่า Low Grade แต่ก็จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีหรือฉายแสงได้มากกว่า Low Grade
3. อัตราการเติบโต (Ki-67)
นอกจากผลชิ้นเนื้อแล้ว อีกค่าที่สามารถบอกได้ถึงอัตราการโตของเซลล์มะเร็ง คือ “ค่าโปรตีน Ki-67” หาก มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนตัวนี้มาก แสดงว่าเซลล์มะเร็งมีภาวะการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น
4. ขนาดของก้อนมะเร็ง (Size)
ขนาดของก้อนมะเร็งนั้น จะวัดจากจุดที่กว้างที่สุดของตัวก้อนมะเร็ง และขนาดยังเป็นตัวบ่งบอกถึงระยะของมะเร็งอีกด้วย แต่ว่าไม่ใช่ว่าขนาดจะสามารถใช้พยากรณ์โรคได้ทั้งหมด ต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย ดังนั้น ก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ ไม่ได้บอกถึงภาวะโรคที่เลวร้ายเสมอไป และในทางกลับกัน ขนาดที่เล็กตัวโรคอาจลุกลามเร็วก็เป็นได้
5. ขอบเขตการผ่าตัดก้อนมะเร็ง (Surgical Margin)
คือระยะห่างจากขอบชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดกับเซลล์มะเร็ง ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้น เป้าหมายอย่างหนึ่งในการผ่าตัด คือ การผ่าตัดเอาตัวก้อนมะเร็งออกให้ได้ทั้งหมด โดยมีระยะห่างจากตัวก้อนที่เหมาะสม ไม่เหลือตัวรอยโรคในบริเวณที่ผ่าตัด แต่ในบางครั้งการผ่าตัดอาจถูกจำกัดด้วยตัวโรค ซึ่งต้องมีการรักษาเพิ่มเติม เช่น ผ่าตัดซ้ำ ให้เคมี หรือฉายแสง ตามแต่กรณีไป
6. การแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง (Lymph Node Involvement)
โดยปกติ ต่อมน้ำเหลืองของเรามีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกับเม็ดถั่ว ทำหน้าที่ในการกรองเชื้อโรค และจัดการเซลล์แปลกปลอมก่อนปล่อยน้ำเหลืองวนกลับเข้าสู่ร่างกาย ที่เต้านมเองก็มีต่อมน้ำเหลืองทำหน้าที่ดักจับเซลล์ที่ผิดปกติเช่นกัน ดังนั้น ถ้าพบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง หมายความว่า มีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไปสูงขึ้น
7. การติดตัวรับฮอร์โมนของก้อนมะเร็ง (Hormone Receptor Status)
ตัวรับฮอร์โมนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่บนผิวเซลล์เต้านม มีหน้าที่รับส่งสัญญาณตอบสนองเซลล์เต้านมต่อฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นให้เต้านมเจริญเติบโต เมื่อเซลล์เต้านมกลายเป็นมะเร็ง เราจึงต้องทำการย้อมดูโปรตีนตัวรับที่ผิวเซลล์มะเร็ง เพื่อจะดูว่ามีการกระตุ้นการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งโดยอาศัยตัวรับฮอร์โมนหรือไม่ เพื่อใช้ประกอบการรักษาต่อไป โดยตัวรับฮอร์โมนมีด้วยกันสองตัว คือ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน และ ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน
8. การติดตัวรับ HER 2 (HER 2 Status)
ตัวรับ HER 2 (Human Epidermal Growth Factor Receptor 2) เป็นโปรตีนตัวรับที่อยู่บนเซลล์ร่างกาย สร้างขึ้นจาก ยีน HER 2 ทำหน้าที่หลากหลายและ ช่วยในการอยู่รอดและเจริญเติบโตของเซลล์ ถ้าหากเซลล์มีโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์มากจนเกินไป (HER 2 Overexpression) จะทำให้เซลล์มะเร็งเต้านมแบ่งตัวผิดปกติตามไปด้วย
การตรวจการติดตัวรับ HER 2 (Testing for HER2 Status) สามารถตรวจได้สองวิธี คือ ใช้การย้อมสีทาง Immunohistochemistry (IHC) หรือ การตรวจด้วยสารเรืองแสง (Fluorescence in Situ Hybridization หรือ FISH) ซึ่งหากติดโปรตีนตัวรับ HER 2 การตรวจที่ได้จะส่งผลไปถึงการรักษาและการใช้ยาพุ่งเป้า เช่น Transtuzumab, T-DM1, Neratinib, Pertuzumab, Lapatinib อีกด้วย
9. การไม่มีการติดตัวรับใดๆ (Triple Negative)
ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พบว่าเป็นชนิดที่ย้อมไม่ติดตัวรับของโปรตีนใดๆเลย เรียกว่า “Triple Negative” โดยกลุ่มนี้มักพบในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ค่อนข้างรุนแรง, อายุน้อย, คนแอฟริกัน สเปน และโปรตุเกส โดยมะเร็งเต้านมชนิดนี้มักพบวามีการพยากรณ์โรคที่ค่อนข้างแย่กว่าชนิดอื่น