การใช้ยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดทำงานอย่างไร?
เซลล์มะเร็งนั้นสามารถเกิดได้อย่างอิสระและรวดเร็ว ในบางครั้งเซลล์มะเร็งอาจจะหลุดออกจะก้อนมะเร็งตั้งต้นแล้วกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้โดยง่าย ยาเคมีบำบัดทำหน้าที่ป้องกันการแบ่งตัว และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดสามารถใช้ได้กับมะเร็งเต้านมลุกลามทุกระยะ แต่การการออกฤทธิ์ของยาก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ที่มีการแบ่งตัวรวดเร็ว อาทิ เส้นผม เล็บ เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุทางเดินอาหาร ไขกระดูก (สร้างเซลล์เม็ดเลือด) และเกิดเป็นอาการข้างเคียงในระหว่างที่รักษาขึ้นได้
มีการนำยาเคมีบำบัดมาใช้ตั้งแต่ระยะลุกลามเริ่มต้นของโรค เพื่อกำจัดเซลล์ของมะเร็งที่อาจจะหลงเหลืออยู่ในการกลับเป็นซ้ำของโรค ไปจนถึงมะเร็งระยะที่มีการแพร่กระจาย เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้เหลืออยู่น้อยที่สุด และบ่อยครั้งผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีชนิดที่มีการผสมผสานมากกว่า 1 ชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งลุกลามระยะเริ่มต้น จะเป็นการรักษาเสริมหลังจากผ่าตัดมะเร็งออกไปหมดแล้ว โดยจะเริ่มรักษาได้ทันทีหลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัด การรักษารูปแบบนี้เรียกว่า “Adjuvant”
บางครั้งอาจมีการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของมะเร็งเต้านมลงจนสามารถทำการผ่าตัดได้ การรักษารูปแบบนี้เรียกว่า “Neoadjuvant”
ใครบ้างที่ควรรับยาเคมีบำบัด?
ยาเคมีบำบัดสามารถนำมาใช้กับการรักษามะเร็งเต้านมแบบลุกลามได้ทุกระยะ โดยแพทย์จะประเมินจากชนิดของมะเร็ง ตัวรับฮอร์โมนและตัวรับสัญญานเฮอร์ทูของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค และการรักษาที่ผ่านมาก่อน สำหรับหญิงมีครรถ์ การใช้ยาจะมีความปลอดภัยเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
มะเร็งเต้านมลุกลามระยะเริ่มต้น นับตั้งแต่ขั้นหนึ่งถึงระยะเริ่มต้นเข้าสู่ขั้นที่สาม จะมีการดูแลสำหรับการใช้ยาเคมีบำบัดขึ้นกับปัจจัยดังนี้
- ตรวจพบมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ขนาดก้อนมะเร็ง และสถานะการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง
- ผู้ป่วยในช่วงอายุน้อยและไม่ใช่วัยหมดประจำเดือน จะมีแนวโน้มของโรคที่รุนแรงกว่าและแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากขึ้น จึงมักมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมเสมอ
- หากตรวจพบการรับสัญญานเฮอร์ทูในมะเร็งที่ไม่มีตัวรับสัญญานฮอร์โมน แสดงว่าโรคมีความรุนแรง และจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด
- การใช้ข้อมูลจากการตรวจรหัสทางพันธุกรรม สามารถนำมาใช้ในการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลได้ ถึงประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ยาเคมีบำบัด
- มะเร็งที่ไม่อยู่ในระยะลุกลาม ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษา เพราะมีการแพร่กระจายของโรคในร่างกายน้อยมาก
ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมลุกลามที่แพร่กระจายนับตั้งแต่มะเร็งขั้นที่สามจนถึงขั้นที่สี่นั้น เนื่องจากมะเร็งกระจายจากเต้านมและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงไปยังอวัยวะส่วนอื่นแล้ว เป้าหมายในการใช้ยาเคมีบำบัดในระยะนี้จึงหวังผลในเรื่องของการกำจัดเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ให้เหลือน้อยที่สุด จึงได้มีการใช้ยาหลากหลายขนาน รวมไปถึงการนำยาใหม่ๆ เข้ามาใช้อยู่เสมอ อาทิ Paclitaxel, Docetaxel, Doxorubicin, Epirubicin, Erubilin สำหรับในมะเร็งขั้นที่สี่ จะมียาเพิ่มขึ้น เช่น Gemcitabine, Capecitabine, Vinorelbine, Ixabepilone ซึ่งการเลือกใช้ยาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานะการณ์
- กรณีที่ผู้ป่วยเคยผ่านการให้ยาเคมีบำบัดมาก่อนแล้ว การใช้ยาเคมีบำบัดในครั้งต่อไปมักจะเลือกใช้ยาเพียงชนิดเดียวก่อน เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาและได้รับผลข้างเคียงน้อยที่สุด
- การให้ยาเคมีบำบัดจะดำเนินไปตลอดจนกระทั่งพบอาการข้างเคียงที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ป่วย ถึงจะหยุดการใช้ยาชนิดนั้น
- ในบางกรณีจำเป็นต้องให้ยาเคมีแบบผสมผสานเพื่อหวังประสิทธิภาพของยาในการรักษา และถ้าไม่ได้ผลอาจจะสลับไปใช้ยาเคมีบำบัดอีกกลุ่มแทน
- ทั้งนี้ ในมะเร็งชนิดที่ผลการตรวจตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก แพทย์อาจจะเริ่มใช้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนก่อนเป็นอันดับแรก
การเลือกใช้ยาเคมีบำบัดแบบผสมผสาน
บ่อยครั้งที่จะเห็นชื่อย่อของการใช้ยาเคมีบำบัดพร้อมกันหลายชนิด ที่เขียนย่อด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ เช่น AC (Adriamycin/Cytoxan), AT (Adriamycin/Taxotere), CMF (Cytoxan/Metrotrexate/Fluorouracil), FAC (Fluorouracil/Adriamycin/Cytoxan), CAF (Cytoxan/Adiamycin/ Fluorouracil) ในบางครั้งการเรียกชื่อของยาอาจจะคล้ายกันเช่น FAC กับ CAF เป็นเพราะมีการใช้ยาชนิดเดียวกัน แต่มีที่รูปแบบการบริหารและขนาดของยาที่ใช้แตกต่างออกไป ปัจจัยที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาก่อนเลือกให้เคมีบำบัดแบบผสมผสานนี้คือ
- ลักษณะของมะเร็งที่พบ ระยะของโรค สถานะการตอบสนองต่อตัวรับฮอร์โมน/ตัวรับเฮอร์ทู การตรวจต่อมน้ำเหลือง
- อายุ และวัยหมดประจำเดือน
- โรคประจำตัวของผู้ป่วย อาทิโรคหัวใจ
การใช้ยาแบบผสมผสานนั้น นอกจากจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่มีความหลากหลายได้แล้วนั้น ยังไม่ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อผู้ใช้มากเกินจำเป็น โดยแพทย์และผู้เข้ารับการรักษาความวางแผนการใช้ยาร่วมกันก่อนรับการรักษา
การคาดหวังผลของการใช้ยาเคมีบำบัด
ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบัด ผู้ป่วยอาจมีคำถาม เช่น จะต้องใช้ยาอะไรบ้าง? รูปแบบการใช้เป็นอย่างไร? ยากินหรือยาฉีดเข้าทางเส้นเลือด? หรือ อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง? ในเบื้องต้น สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรทราบ มีดังนี้
- จะได้รับยาเคมีบำบัดในช่วงใด? ก่อนหรือหลังการผ่าตัดมะเร็ง? โดยทั่วไปมักให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด แต่ไม่ควรเปรียบเทียบแผนการให้ยาเคมีบำบัดของตนกับผู้ป่วยคนอื่น ว่าได้รับการให้ยาเร็วหรือช้า เพราะยาเคมีบำบัดเป็นเพียงการรักษาเสริม การผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมะเร็งระยะนี้ ส่วนการให้ยาก่อนการผ่าตัดนั้น เป็นการรักษาในสถานการณ์จำเพาะ โดยมีมะเร็งบางชนิดเท่านั้นที่จะตอบสนองด้วยการวิธีการนี้
- ตารางนัดหมายเพื่อเข้ารับยาเคมีบำบัด ในการให้ยาจะมีการให้เป็นรอบ เพื่อเว้นระยะพักให้ร่างกายผู้ป่วยได้ฟื้นฟู โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่รับยาวันแรก ไปจนถึงการเว้นวันพักฟื้นก่อนการรับยาครั้งใหม่ ถือเป็นหนึ่งรอบ ทั้งนี้จำนวนรอบของการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 6 เดือน บางครั้งมีการใช้ยาแบบเข้มข้น “Dose-Dense” เพื่อให้ระยะเวลาในการรักษาแต่ละรอบสั้นลง เช่นจาก 3 สัปดาห์ เป็น 2 สัปดาห์ เพื่อลดความรุนแรงของมะเร็งและการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายยังไม่สามารถฟื้นฟูให้เป็นปกติได้ทันในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แพทย์อาจจะต้องใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานให้พร้อมต่อการรักษาในรอบถัดไปด้วย
- ให้ยาเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีใด? การให้ยาในรูปแบบฉีด จะมีตั้งแต่การฉีดแบบครั้งเดียวผ่านกล้ามเนื้อในบริเวณแขนหรือสะโพก หรือให้แบบช้าๆ ผ่านสายน้ำเกลือ เข้าสู่หลอดเลือดดำของแขนหรือมือ ในกรณีนี้ ถ้าผู้ที่ได้รับมีอาการปวดหรือแสบร้อน ควรแจ้งให้ผู้ดูแลทราบ หลังการผ่าตัดมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองแล้ว หากเกิดอาการท่อน้ำหลืองที่แขนอุดตัน แขนอาจจะบวมขึ้น แพทย์จะเตรียมช่องทางอื่นแทนในการให้ยาผ่านหลอดเลือดแทน เช่น กระเปาะให้ยาใต้ผิวหนังเข้าสู่หลอดเลือดดำ (Port-A-Cath) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รูปร่างกลมขนาดเล็ก ฝังอยู่ใต้ชั้นผิวหนังบริเวณทรวงอกเพื่อให้สามารถคลำได้จากภายนอก ภายในจะมีท่อสายยางเชื่อมไปถึงหลอดเลือดดำ ทำให้สามารถการให้ยาหรือเจาะเลือดผ่านทางกระเปาะนี้ได้ หรือเป็นการให้ยาผ่านสายยางที่วางอยู่บนผิวหนังบนแขนหรือหน้าอก และมีปลายของท่อเปิดเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่ “Long Line” และไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ผู้ป่วยเองจำเป็นต้องมีความรู้ในการดูแล และการสังเกตุความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์นี้ เช่น การติดเชื้อเช่นบวมแดง มีไข้ เป็นต้น
- การดูแลตัวเองก่อนรับยา ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดในระหว่างรักษา อาจจะส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าอาจเกิดปัญหาได้ เช่น ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อดูแลปัญหาในช่องปาก รักษาฟันผุที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การจัดระเบียบสภาพแวดล้อมรอบบริเวณที่พักอาศัย ให้สามารถติดต่อคนรอบข้างได้สะดวกในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ และควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบว่าใช้ยาและวิตามินอะไรอยู่บ้าง เพราะอาจกระทบต่อการรักษา ในการใช้ยาที่ทราบว่าจะมีอาการผมร่วงนั้น ควรตัดผมให้สั้นและเลือกหาวิกผมที่เหมาะกับตัวเองไว้ก่อน เพื่อคลายความวิตก สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทำงานประจำอยู่ตลอด ควรถามทราบระยะเวลาการให้ยาในแต่ละรอบอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้ปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องไปด้วยกันได้ อาทิ งดเว้นงานหนักในช่วงสัปดาห์แรกที่เข้ารับยา และกลับมาทำงานหนักได้ตามปกติในสัปดาห์สุดท้ายก่อนรับยารอบถัดไป
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัด จะมุ่งเป้าไปทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ทำให้เซลล์ปกติของร่างกายบางชนิดที่มีการแบ่งตัวเร็วจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งจะเกิดกับเซลล์เม็ดเลือด เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุผิวในลำไส้ เล็บ เส้นผม เกิดเป็นอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วย ที่แสดงให้เห็นในระหว่างทำการรักษา โดยที่อาการข้างเคียงเหล่านี้ส่วนใหญ่หายได้ภายหลังการรักษา ขึ้นอยู่กับการใช้ยาแขนงใด ปริมาณยาที่ใช้ และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดเป็นลักษณะอาการที่ไม่สามารถบรรเทาด้วยการใช้ยา และเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรทำการแจ้งทีมแพทย์ผู้ให้การดูแลในขณะนั้น ในการเตรียมการรักษาขั้นตอนต่อไป
การจัดการกับความกลัวก่อนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
นายแพทย์มิทช์ โกแลนท์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้กล่าวถึงการรักษามะเร็งเต้านมไว้ว่า “การรับยาเคมีบำบัดและการรักษาภายหลังจากที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยทุกคนสัมผัสถึงความเป็นมะเร็งได้อย่างแท้จริง” ซึ่งเป็นจริงอย่างว่า เพราะโดยมากก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษานั้น แทบจะไม่มีอาการของมะเร็งให้เห็นเลย แต่เมื่อเข้ารับการรักษา ผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจจะตามมานั้น กลับเป็นสิ่งที่ยากจะเผชิญเองกับตัว จนมีผู้ป่วยไม่น้อยที่คิดว่าแนวทางที่รักษาอยู่นั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
เพื่อให้ง่ายต่อการรักษา และบรรเทาอาการข้างเคียงที่จะได้รับ ควรอย่างยิ่งที่จะระบุมาก่อนว่า สิ่งที่กำลังกลัวนั้นคืออะไร? กลัวความเจ็บปวด? ความท้อแท้อ่อนเพลีย? เบื่ออาหาร? กลัวปัญหาผมร่วง? หรือรูปพรรณภายนอกที่จะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทราบถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว จึงจะสามารถปรึกษาแพทย์ หรือปรึกษาในห้องแชทกลุ่มรวมที่ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานได้จัดขึ้นเพื่อตอบคำถามให้กับคุณ
กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณจัดการกับความกลัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ที่ให้การรักษา การพยายามจัดการแก้ไขทุกอย่างด้วยตนคนเดียวนั้น มีแต่จะทำให้ปัญหานั้นแย่ลง นอกเหนือจากการดูแลโดยวิธีการดังกล่าวแล้ว การใช้ศาสตร์อื่นๆ เช่น อโรมาเธอราพี การท่องเที่ยว นวดผ่อนคลาย ดนตรีบำบัด โยคะ เหล่านี้ช่วยลดความกลัวในการรักษาโรคและช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
ควรเชื่อมั่นในแนวทางการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
เนื่องจากประสิทธิภาพของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการให้ยาตามรอบที่วางไว้ โดยเริ่มต้นให้ยาได้เมื่อสภาพร่างกายของผู้ป่วยพร้อมหลังการผ่าตัด และใช้เวลาในการให้ยาไม่เกิน 6 เดือน ก่อนเริ่มทำการรักษาผู้ป่วยควรเตรียมการวางแผนในเรื่องการทำงาน การหยุดยาวเพื่อเที่ยวพักผ่อน ดูแลสุขภาพพื้นฐาน การเตรียมการรับมือกับผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดไว้ล่วงหน้า เพื่อที่พอเริ่มให้การรักษาแล้ว ทุกอย่างจะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตามตารางที่แพทย์กำหนดไว้