มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ในปัจจุบันมีการพัฒนาแนวทางการคัดกรอง วิธีการวินิจฉัย การผ่าตัด การรักษา และการตรวจติดตามหลังการรักษาของมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย
อาการของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถแสดงอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลยแต่ตรวจพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์เต้านม หรือคลำพบก้อนที่เต้านม ไปจนถึงมีความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เต้านม ซึ่งหากคุณมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์
- คลำพบก้อนที่เต้านม หรือรักแร้
- เจ็บเต้านม
- มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม
- เจ็บที่หัวนม มีหัวนมบุ๋ม หรือผิวหนังที่หัวนมหนาขึ้น
- การบวมของเต้านมบางส่วนหรือทั้งหมด
- ผิวหนังที่เต้านมเปลี่ยนแปลงไปเป็นผิวเปลือกส้ม บวมแดง หรือมีแผลและรอยบุ๋มที่ผิวหนังเต้านม
เพื่อความปลอดภัย ผู้หญิงควรคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หากคุณมีอาการผิดปกติ หรือพบความเปลี่ยนแปลงของเต้านม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาในทันที นอกจากนี้ ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเอกซเรย์และอัลตร้าซาวด์เต้านม (Mammogram and Ultrasound) เป็นประจำทุกปี เพื่อหาความผิดปกติของเต้านม หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ (ระยะเริ่มต้น) และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง