สุวลักษณ์ วงศ์จรรโลงศิล: พยาบาลวิชาชีพผู้ที่มุ่งพัฒนางานการพยาบาลดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยเบื้องต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่าในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งหนึ่งคนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยคนนั้นได้ใช้ขีวิตอยู่กับคนที่เขารักอย่างมีคุณภาพให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่สุวลักษณ์ วงศ์จรรโลงศิล พยาบาลวิชาชีพ ผู้ทำงานเพื่อผู้ป่วยโดยมิได้หวังผลตอบแทน
“พี่ก็ไม่อยากยกยอตัวเองขนาดนั้นนะ พี่ถือว่าพี่อยู่ตรงนี้ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” ประโยคเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความถ่อมตัวของพยาบาลวิชาชีพ ผู้ริเริ่มโครงการเพื่อผู้ป่วยซึ่งดำเนินมาแล้วตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
จากจุดเริ่มต้นหลังจากเรียนจบปริญญาโท พี่สุวลักษณ์และอาจารย์ ได้เล็งเห็นปัญหาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจนนำไปสู่ โครงการที่มีชื่อยาวไม่ใช่เล่นอย่าง “โครงการการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการปรับตัวต่อโรคและการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัด” ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2545
“จริง ๆ โครงการนี้เริ่มมาจาก รศ.ดร.ยุพาพิน ศิรโพธิ์งาม อาจารย์พยาบาลของพี่เอง ตัวพี่ ผู้ตรวจการพยาบาล อาจารย์พยาบาลและหัวหน้าหอผู้ป่วย รวมทั้งพยาบาลในหอผู้ป่วยที่ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมร่วมกันก่อตั้ง ตั้งแต่ที่พี่ได้มาดูแลแผนกศัลยกรรมหญิง โรคที่พบมากที่สุดคือมะเร็งเต้านม ปัญหาที่พบในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คือยังขาดการดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในแต่ละหอผู้ป่วย การหมุนเวียนของเตียงที่รวดเร็ว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นแต่จำนวนเตียงนอนของผู้ป่วยมีจำกัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าพักในโรงพยาบาลในคืนก่อนผ่าตัดเพียง 1 คืน พยาบาลในหอผู้ป่วยมีเวลาน้อยในการเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ปรากฏการณ์ที่พบในกลุ่มผู้ป่วยบางราย หลังผ่าตัด ไม่กล้ามองเต้านมที่ถูกตัดออก” พี่สุวลักษณ์เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นโครงการดังกล่าว
ในระยะเริ่มต้นนั้นโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย การให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลตนเองของผู้ป่วย ในช่วงหลังผ่าตัด เพราะพยาบาลที่ร่วมโครงการยังต้องทำงานประจำ ต้องขึ้นเวร เช้า บ่าย ดึก ต้องปลีกเวลา มาทำตรงนี้
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่หลังผ่าตัดยังต้องรับการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา ยาต้านฮอร์โมน ในแผนกศัลยกรรม ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มารักษาด้ายยาเคมีบำบัด ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆรวมทั้งต้องเฝ้าระวังการเกิดซ้ำของโรคและติดตามการรักษาไปตลอดชีวิต
งานการพยาบาลศัลยศาตร์จึงกำหนดให้มี APN ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้น พี่สุวลักษณ์มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนางานดูแลผู้ป่วยในบ้านเราให้ดีขึ้น นับเป็นพยาบาลในหน่วยศัลยกรรม คนแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้เป็น APN (Advance Practice Nurse) หรือ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง เมื่อเรียนจบกลับมา ได้รับมอบหมายให้ดูในภาพรวมเชิงระบบมากขึ้น ดูผู้ป่วยตามแนวคิดแบบองค์รวม ตั้งแต่การวินิจฉัยครั้งแรก ดูว่าผู้ป่วยมีความเข้าใจอย่างไร ทั้งยังสอนผู้ป่วยดูแลแผลหลังผ่าตัด ใช้เวลาทุ่มเทให้กับผู้ป่วยมากขึ้น เวลาผู้ป่วยมีปัญหา ผู้ป่วยสามารถโทรปรึกษาได้ “ตอนนั้นทั้งโรงพยาบาลพี่ดูคนเดียวทั้งหมด ปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ป่วยใหม่ ประมาณ 500-600 คน แต่เดี๋ยวนี้ดีที่มีน้องอีก 1 คนมาช่วย” พี่สุวลักษณ์ เล่าถึงช่วงแรกของโครงการที่มีมาอย่างยาวนาน
“มีคุณป้าอายุ 70 กว่า เป็นคนแก่อยู่คนเดียว ไม่มีใคร พี่ดูแลเขามาตั้งแต่แรก จนทุกวันนี้เกือบ 5 ปีแล้ว เวลามาโรงพยาบาลทีไรก็จะถามหาพี่ว่าอยู่ไหมและนำข้าวต้มมัดมาฝากประจำ” พี่สุวลักษณ์เล่าพร้อมรอยยิ้มของความประทับใจ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกรายที่ผู้ป่วยจะยอมรับการรักษา มีเคสหนึ่งพี่สุวลักษณ์เล่าให้เราฟังว่า “ผู้ป่วยบางคนก็ปฏิเสธการรักษาโดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เพราะกลัวบ้าง เพราะความเข้าใจผิดบ้าง พอโน้มน้าวสำเร็จสักรายก็รู้สึกดี เพราะบางคนก็จะดูสื่อทางอินเทอร์เน็ต เชื่อเนื้อหาก็ไปรักษาแบบผิดวิธี สมัยก่อนพี่ถึงขั้นโทรตามผู้ป่วย โน้มน้าวเองเลยนะ ค่าโทรศัพท์ก็แพงสมัย 20 ปีก่อน (หัวเราะ) มีเคส จากพิจิตรจำได้แม่นเลย เขาปฏิเสธการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดพี่โทรตาม 3 ครั้งจนญาติบอกว่าพี่ไม่ต้องโทรมาแล้วที่บ้านตัดสินใจกันแล้ว จนกระทั่ง 2 ปีต่อมาผู้ป่วยมาด้วยรถนอนเนื่องจากมะเร็งกระจายไปปอดและกระดูก พี่สาวผู้ป่วยยังมาพูดกับพี่ว่า ‘รู้สึกผิดที่เอาน้องสาวไปรักษาผิดๆ’ ”
ไม่เพียงแต่การดูแลร่างกายเท่านั้น พี่สุวลักษณ์เล่าให้เราฟังว่า “ทุกวันนี้ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม มีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยเยอะ นอกจากหน้าที่ของพยาบาลที่ต้องให้คำปรึกษา แนะนำด้านการดูแลตนเองแล้ว พี่สุวลักษณ์ยังต้องดูแลด้านสภาพจิตใจด้วย ผู้ป่วยบางคนก็มาปรึกษาเรื่องอื่นๆ นอกจากมะเร็งเต้านมด้วยก็มี"
ในช่วงท้ายเราขอให้พี่สุวลักษณ์ ฝากอะไรถึงผู้อ่านสักเล็กน้อย “อยากให้ผู้หญิงทุกคนเห็นความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะ คนไทยยังเข้าถึงแมมโมแกรม ได้ไม่มาก สมัยนี้ แค่เปิด youtube ก็เจอวิธีแล้วหรือลองเข้าเว็บ HERWILL ก็ได้ มีอะไรน่าสนใจเยอะ ถ้าคลำแล้วเจอความผิดปกติ ควรรีบมาหาหมอทันที ไม่ต้องคิดว่าจะใช่มะเร็งหรือเปล่า เพราะหลายคนยังคิดว่าถ้าเป็นมะเร็งจะต้องปวด ถ้าคลำได้ก้อนแต่ก็ไม่ปวดคงไม่ใช่มะเร็ง ทำให้เข้าสู่การรักษาช้า ไม่ต้องรอ ควรตรวจด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอแล้ว ตั้งแต่อายุ 20 ปีหรือเมื่อเป็นสาวแล้วปัจจุบันเรายังพบมะเร็งเต้านมในคนอายุน้อยกว่า20 ปี ล่าสุดพี่มีผู้ป่วยอายุเพียง16 ปี ถ้า 40 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจแมมโมแกรม ถ้าที่บ้านมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ตรวจก่อนอายุ 40 ปี ก็ดี”
ก่อนจากเราถามว่าพี่สุวลักษณ์เหนื่อยหรือไม่ ที่ทำหน้าที่ตรงนี้มามากกว่า 20 ปี เราได้รับคำตอบสั้น ๆ แต่แฝงด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ว่า “ พี่มีความสุขกับการทำงานนะ” พร้อมกับรอยยิ้มของพยาบาลวิชาชีพในวัยใกล้เกษียณ
แน่นอนว่าชีวิตการทำงานของคนคนหนึ่ง ย่อมมีวันสิ้นสุดอายุงาน แต่โครงการที่พี่สุวลักษณ์ได้ร่วมสร้างขึ้นเพื่อผู้ป่วย จะไม่มีวันสิ้นสุดตาม ในปัจจุบันได้มีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่มาช่วยสานต่อโครงการนี้ โดยคาดหวังว่าผู้ป่วยจะได้รับสิ่งดี ๆ กลับไป แบบไม่มีวันสิ้นสุด