สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เริ่มต้นและขับเคลื่อนด้วยการเป็นผู้ให้...
ในวันที่สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย เรามีนัดคุยกับ พล.ต.นพ. สุรพงษ์ สุภาภรณ์ อดีตนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ผ่านทางโทรศัพท์ พอถามถึงความเป็นมาของสมาคมฯ อาจารย์ก็ได้กรุณาเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อราว 14-15 ปีที่แล้ว กับบทบาทนายกสมาคมฯ คนแรกในวัย 65 ปี ให้ฟังว่า “ตอนนั้นเรามีการพูดคุยติดต่อกันภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ และกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่โรงพยาบาลอื่นๆ เช่น ที่ศิริราช รามา จุฬา ช่วงนั้นผมจัดการประชุมเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมบ้าง หรือการผ่าตัด การรักษาผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เป็นการประชุมระดับประเทศที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล แพทย์อาสา มาร่วมประชุม ก็เลยได้รู้จักบุคลากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เลยชักชวนแพทย์หลายๆ ท่านมาร่วมกันก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน จากนั้นอาจารย์เยาวนุช คงด่าน ก็มาช่วยผลักดันให้เราจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นมา”
“เวลาเราจัดประชุมทีไร พอมีการประชาสัมพันธ์ออกไป ก็มีคนมาเข้าร่วมประชุมกับเราเป็นร้อยๆ คนเลยทีเดียว ได้รับการตอบรับอย่างดี เราจัดประชุมให้ความรู้ อัพเดตความรู้ใหม่ๆ มีการทำเป็นหนังสือแจกเป็นเล่มๆ กับผู้ร่วมประชุมเลย เป็นการสร้างองค์ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม เวลาเขารับผู้ป่วยหรือมีปัญหาอะไร เขาก็ใช้หนังสือที่ให้ไปให้เป็นประโยชน์ อาทิ มาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นข้อแนะนำในรายละเอียดต่างๆ ทั้งการผ่าตัด การให้ยา การใช้รังสีรักษา และอื่นๆ”
แม้จะเกษียณแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังจัดประชุมเพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา อะไรคือแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนในวันนั้น? เราถามอาจารย์
“ผมชอบทำงาน แม้จะเกษียณแล้วผมก็ยังทำงานอยู่ ชอบในการรักษาคน และยิ่งเราทำงานนาน เราก็ยิ่งรู้จักคนเก่งๆ ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษามากขึ้น เราเลยชวนคนเหล่านั้นมาบรรยายให้ความรู้แก่สมาชิก”
เราสัมผัสได้ว่า อาจารย์นอกจากมีไฟแล้วยังสนุกกับการทำงานด้วย อาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยถึง 5 สมัยต่อเนื่อง (หรือ 10 ปีต่อเนื่อง) อะไรคือความภาคภูมิใจตลอดการทำงานที่ผ่านมา
“จริงๆ ผมไม่ได้ทำงานคนเดียวนะ เรามีคณะกรรมการ มีรุ่นน้องรุ่นหลังๆ ต่างสาขาการรักษาที่มาช่วยขับเคลื่อนงานของสมาคมฯ จนเป็นรูปเป็นร่าง นั่นคือความภาคภูมิใจเบื้องต้นเลย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและการรักษาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้น” อาจารย์เน้นย้ำถึงเหตุการณ์เมื่อสิบสี่สิบห้าปีที่แล้ว
“ตอนนั้นคนไทยโดยทั่วไปกลัวมะเร็งเต้านม กลัวเพราะไม่รู้ คือกลัวไปก่อน เพราะฉะนั้นจากความไม่รู้บวกกับความกลัว กลัวโดนตัดเต้านม กลัวเคมี กลัวอะไรหลายๆ อย่าง จึงไม่กล้าที่จะมาตรวจเต้านมหรือไปหาหมอ ดังนั้นคนที่จะมาหาหมอจึงมักมาตอนเป็นระยะที่สองหรือที่สาม ซึ่งพอถึงจุดนี้แล้ว มันมักแก้ไขยากเสียส่วนใหญ่ และโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่หลังจากเข้าการรักษาก็มีสูง หรือเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นด้วย ทั้งหมดนี้อาจเพราะเขากลัวด้วย หรือไม่ได้รับความรู้ที่เพียงพอ ช่วงนั้นบทบาทของชมรมฯ หรือสมาคมฯ ในตอนนั้นก็คือให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนควบคู่ไปด้วย ในการที่จะให้ประชาชนตื่นตัวในการมารับการตรวจหรือการรักษาที่ทันท่วงที เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ผู้ป่วยมาทราบว่าตนเองเป็นในระยะสองหรือระยะสาม คือควรจะทราบแต่เนิ่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราต้องการให้ความรู้กับประชาชนเป็นหลักเลย ว่าเมื่อท่านมีความรู้แล้ว และท่านเกิดเป็นมะเร็งเต้านมขึ้นมา ท่านก็จะมาเร็ว และก็จะรักษาหายเป็นส่วนใหญ่ นี่คือความต้องการของพวกเราทุกๆ คน ไม่ใช่เฉพาะผมเท่านั้นครับ”
อาจารย์เสริมต่ออีกว่า “แพทย์และพยาบาลคือคนที่สำคัญที่สุดที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน การที่เราให้ความรู้แก่บุคลากรเหล่านี้ก็เพื่อให้พวกเขาได้นำไปต่อยอด เช่น ไปค้นคว้าต่อ ความหวังส่วนหนึ่งของผมก็คือไม่ว่าแพทย์พยาบาลจะอยู่ส่วนไหนของประเทศก็ตามแล้ว ก็จะมีความสามารถในการรักษาประชาชนในพื้นที่ของเขาได้เหมือนกันหมดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถึงแม้เครื่องมือไม่พร้อม แต่ถ้าเราก็รู้ว่าจะรักษาอย่างไร เราก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มความสามารถและสามารถส่งต่อการรักษาไปยังสถานพยาบาลอื่นต่อได้ ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก นี่ต่างหากที่เราต้องการ”
การที่แพทย์จากหลายๆ สาขาต่างช่วยกันสละเวลามาบรรยายให้ความรู้ แสดงให้เห็นว่า ในเวลานั้น... แพทย์และบุคลากรต่างเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคคลากรและการช่วยเหลือประชาชน โดยอาจารย์เสริมแนวคิดให้กับเราว่า
“ผมรู้จักกับแพทย์เยอะ และนับถือในความรู้ของเขา แม้แต่หมอที่อายุน้อยกว่า ผมก็เคารพเขาในฐานะที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาของเขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางเต้านม หรือแพทย์จีไอ หรือมะเร็งประเภทอื่นก็ตาม ผมนับถือหมด เราให้เกียรติเขา เพราะฉะนั้นเราไปคุยไปขอความช่วยเหลืออะไรเขาก็ยินดี ไม่ใช่มองว่าเราเก่งทุกอย่างคนเดียว ไม่มีทาง”
อย่างที่ทราบกัน นอกจากอาจารย์เป็นนายกคนแรกของสมาคมฯ แล้ว อาจารย์ยังดำรงตำแหน่งถึง 5 วาระ เป็นเวลายาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว มีอะไรที่ยากและเป็นอุปสรรคไหมครับ?
“โดยรวมเราทำงานเป็นทีม มีแพทย์คอยช่วยสนับสนุนอยู่หลายท่าน ทำให้งานของสมาคมฯ ดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าจะเหนื่อยหน่อยก็คือ... เราอยากสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งก็ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนเยอะเหมือนกัน”
เราเองมองว่าการดำเนินงานของสมาคมฯ เป็นไปอย่างราบรื่นเพราะคณะกรรมการช่วยเหลือกัน แต่อาจจะติดขัดบ้างในเรื่องงานวิจัย ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเชิงรุกของสมาคมมากกว่า….
“ผมอยากสนับสนุนน้องๆ ที่อยากทำงานวิจัยที่ออกมาเป็นผลดีและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกครับ” อาจารย์กล่าวเสริมถึงความฝันที่อยากเห็น
ในวันนี้... อาจารย์อายุ 79 ปีแล้ว แต่ยังคงรักษาผู้ป่วย ทำงานสมาคมฯ และจัดประชุมเพื่ออัพเดตความรู้กับคณะแพทย์อยู่เป็นระยะๆ เราอยากจะใช้คำว่า “ไฟแรง” กับอาจารย์ แต่อาจารย์ชิงใช้คำว่า “Active” กับเราแทนเสียก่อน...
“ทุกวันนี้ ที่ผมแอคทีฟอยู่ได้ ผู้ป่วยมีส่วนอย่างมากเลย การที่เราได้ดูแลเขาแล้วเขาหาย บางคนเราดูแลมา 30กว่าปีอย่างต่อเนื่อง หมายถึงเขาหายแล้วเมื่อ 30 ที่แล้ว และยังมาติดตามผลทุกๆ ปี ก็ทำให้เราได้ทำงานอยู่เรื่อยๆ และบางทีเขาก็ตั้งชมรมและให้เราเป็นที่ปรึกษาด้วย ก็ทำให้เรารู้สึกดี นอกจากนี้ก็ยังมีน้องๆ ที่ผมเคยดูแล และเห็นเขาเป็นแพทย์ที่ทั้งเก่งและมีจริยธรรมด้วย อันนี้สำคัญเลย เพราะตรงนี้จะดีต่อผู้ป่วยมากๆ หมายความว่าเขาจะเป็นแพทย์ที่พร้อมจะดูแลผู้ป่วยได้ทุกเวลา มีการสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วย มีการยอมรับนับถือผู้ป่วยว่าคือมนุษย์ด้วยกัน ดูแลเขาอย่างดีที่สุดให้เหมาะสมกับสภาพของเขาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐาน ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีสถานภาพทางสังคมอย่างไร”
แม้วันนี้อาจารย์จะไม่ได้เป็นนายกสมาคมโรคเต้านมแล้ว แต่อาจารย์ยังคงมุ่งมั่นในการให้การสนับสนุนแต่สมาคมฯ และวงการแพทย์ ภายใต้แนวคิด “Every Patient Is Unique” ที่อาจารย์ยึดถือมาตลอดว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก มีสภาพร่างกาย จิตใจ และพยาธิสภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้นแนวทางการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน แพทย์ต้องตระหนักในสิ่งนี้และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยอาจารย์เล่าว่า “เรามีการประชุมเอาเคสของผู้ป่วยแต่ละรายมาศึกษาและปรึกษาหารือกัน ผ่านโปรแกรม Zoom โดยเชิญอาจารย์จากที่อื่นๆ มาให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับหมอที่อยู่ห่างไกลตามต่างจังหวัดต่างๆ”
อาจารย์ไปเอาไฟการทำงานมาจากไหน เรายังสงสัยในใจ และอาจารย์ยังคงใช้คำว่าแอคทีฟเหมือนเดิม
“ก็ที่ผมแอคทีฟ ก็มาจากตรงนี้แหละ ผู้ป่วยกับน้องๆ หมอ และการได้ดูแลนักเรียนแพทย์ คือ ทุกปีผมจะได้มีโอกาสสอนจริยธรรมและมะเร็งเต้านมให้กับนักเรียนแพทย์ใหม่ๆ อยู่ตลอด” อาจารย์กล่าวทิ้งท้ายการสนทนาทางสายในวันนั้น
จิตของผู้ให้สัมผัสได้ถึงความเมตตา แต่ในการสนทนานอกจากเราจะเห็นการเป็นผู้บุกเบิกหรือตัวกลางในการให้ความรู้ที่เป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัดผ่านรูปแบบการประชุม การจัดทำหนังสือ และการเรียนการสอนแล้ว การให้ในเชิงนามธรรมก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่องของจริยธรรมที่อาจารย์มักจะแฝงควบคู่ไปด้วย ซึ่งความครบด้านในการเป็นผู้ให้ของสมาคมฯ ทั้งในรูปธรรมและนามธรรมนี้ สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ “ประชาชน" นั่นเอง เราขอขอบคุณอาจารย์สุรพงษ์ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ