รังสีรักษากับโรคมะเร็งเต้านม
การรักษาโดยการใช้รังสี หรือ “รังสีรักษา” เป็นการรักษาโดยใช้รังสีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง การรักษาโดยการใช้รังสีนั้นไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจจะมีการระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสีได้บ้าง
ในการใช้รังสีรักษาในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นนั้น มักทำหลังจากการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออกไปแล้ว การฉายรังสีซ้ำ ก็เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจจะหลงเหลืออยู่หลังจากการผ่าตัด และเพื่อลดอัตราการเกิดซ้ำของโรคมะเร็งเต้านม
หลักการทำงานของรังสีรักษา
การรักษาโดยการใช้รังสีนั้น เป็นการใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) พลังงานสูงเป็นพิเศษเพื่อทำลาย DNA ของเซลล์มะเร็ง เมื่อ DNA หรือสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งถูกทำลาย เซลล์มะเร็งจะไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก และถูกทำลายไปในที่สุด
ทั้งนี้ รังสีที่ใช้ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว เซลล์ร่างกายในบริเวณข้างเคียงก็จะได้รับผลกระทบหรือถูกทำลายไปด้วย แต่เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีอัตราการแบ่งตัวที่เร็วกว่าเซลล์ปกติ และโครงสร้างของเซลล์มะเร็งนั้นไม่แข็งแรง ซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อเซลล์ปกติถูกทำลาย ก็ยังสามารถซ่อมแซมตัวเองและเจริญเติบโตได้ใหม่ ทำให้การฉายรังสีมีผลต่อการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็งมากกว่า
การฉายแสงเพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านมนั้น มักจะทำบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่มะเร็งแพร่กระจายไป ซึ่งอาจจะเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาได้ อย่างไรก็ตามการใช้รังสีรักษาจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันวางแผนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษามากที่สุด และได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ชนิดของรังสีรักษา
ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม จะใช้รังสีรักษา 2 ชนิด ดังนี้
- รังสีรักษาระยะไกล (External Beam Radiation): การรักษาโดยการใช้เครื่องฉายรังสีพลังงานสูงจากภายนอกไปยังบริเวณที่ต้องการ ซึ่งมักจะต้องทำติดต่อกัน และใช้ระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลนาน
- รังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy): การรักษาโดยใช้เครื่องมือใส่สารกัมมันตรังสีสำหรับการรักษาเข้าไปในตัวผู้ป่วยบริเวณที่เกิดมะเร็ง เพื่อให้กำจัดเซลล์มะเร็งจากภายใน หรือที่เรียกกันว่า การฝังแร่ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ การใส่แร่เข้าไปในโพรงของร่างกาย เช่น โพรงมดลูก หรือการใส่แร่ผ่านเครื่องมือที่แทงเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรง เป็นต้น
ปัจจุบันมีรังสีรักษาอีกเทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า การฉายรังสีในระหว่างผ่าตัด (Intraoperative Radiotherapy) เป็นการใช้รังสีรักษาขนาดสูงเข้าสู่ก้อนมะเร็งโดยตรงขณะที่ผ่าตัด ทำให้ลดระยะเวลาในการฉายแสงของผู้ป่วยลงอย่างมาก และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบใหม่ ที่เรียกกันว่า Proton Therapy คือแทนที่จะใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) พลังงานสูงฉายโดยตรงไปที่ก้อนมะเร็ง แต่เปลี่ยนเป็นใช้อนุภาค Proton แทน แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยเท่านั้น และยังไม่ได้มีใช้ในมาตรฐานการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน
เมื่อไหร่จะต้องฉายรังสี
การรักษาโดยการฉายรังสีสามารถใช้ได้กับมะเร็งเต้านมทุกระยะ ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากรังสีที่ใช้จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
การรักษาโดยการฉายรังสีนั้นโดยมากมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำหลังจากที่เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปแล้ว เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ เพื่อป้องกันการอุบัติซ้ำของโรคมะเร็ง
โดยมากหลังจากการผ่าตัดแล้ว แพทย์เจ้าของไข้จะต้องดูผลชิ้นเนื้อที่ตัดออกไป เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำของผู้ป่วย โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ อาทิ เช่น
- • จำนวนต่อมน้ำเหลืองที่พบเซลล์มะเร็ง
- • ขนาดของก้อนมะเร็ง
- • มีเซลล์มะเร็งอยู่ตามขอบของก้อนเนื้อที่ตัดไป (Free Margin) หรือไม่
ถ้าหากแพทย์เจ้าของไข้ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะเกิดมะเร็งซ้ำ จะแนะนำให้ทำการฉายแสดงต่อในบริเวณที่ตัดเต้านมออกไป และอาจจะต้องทำบริเวณที่เป็นต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย
แต่ถ้าผู้ป่วยมีภาวะบางอย่าง เช่น โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด ที่ทำให้ผิวไวต่อการฉายแสงอย่างมาก หรือผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีภาวะบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถมาฉายแสงได้ครบตามแผนการรักษา แพทย์ก็อาจจะพิจารณาไม่ส่งฉายแสงได้
เราสามารถฉายแสงซ้ำที่เดิมได้หรือไม่?
การฉายรังสีเต็มขนาด (Full-dose Radiation) โดยมากมักจะทำเพียงครั้งเดียวที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงไม่สามารถทนทานต่อการฉายแสงได้มากไปกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยพบว่าในบางสภาวะจะสามารถฉายรังสีเต็มขนาดที่บริเวณเดิมได้
อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องฉายรังสีซ้ำในบริเวณเดิม เช่น มีมะเร็งเกิดขึ้นในตำแหน่งเดิมของเต้านม การรักษาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชนิดจากแพทย์ผู้ทำการฉายแสง เพื่อให้สามารถคำนวณขนาดของรังสีที่ใช้ ตำแหน่งที่ฉายแสง เพื่อให้ได้ผลการรักษาสูงสุด และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ถ้าเกิดมะเร็งในตำแหน่งใหม่ เช่น เต้านมคนละข้าง ผู้ป่วยสามารถรับการฉายแสงได้ตามปกติ
ระยะเวลาในการฉายแสงและการผ่าตัดเสริมเต้านม (Breast Reconstruction Surgery)
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉายรังสีรักษาจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และชนิดของมะเร็งเต้านมที่เป็น โดยมากมักจะทำหลังจากผ่าตัดเต้านมไปแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย การฉายแสงมักจะตามหลังการให้ยาเคมีบำบัด
ถ้าหากผู้ป่วยต้องตัดเต้านม และต้องการผ่าตัดเพื่อเสริมเต้านมร่วมด้วย (Breast Reconstruction Surgery) จะต้องทราบว่าหากต้องทำการรักษาโดยการฉายรังสีต่อ มักจะทำให้เต้านมที่เสริมมาเปลี่ยนรูปร่าง ขนาดลดลง และสีผิวบริเวณที่ฉายแสงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ การผ่าตัดเสริมเต้านม อาจจะรบกวนการฉายรังสีรักษา ดังนั้นแพทย์ผู้ผ่าตัดบางท่านอาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยใช้รังสีและให้ยาเคมีบำบัดให้ครบคอร์สก่อน แล้วจึงทำผ่าตัดเพื่อเสริมเต้านมในภายหลัง
ในบางกรณี แพทย์ผู้ผ่าตัดบางท่าน อาจแนะนำให้ใส่ตัวถ่างขยายผิวหนังไว้ภายหลังการผ่าตัดเต้านมออก เพื่อคงรูปหน้าอกเอาไว้ระหว่างที่ทำการรักษาโดยการฉายแสงหรือให้เคมีบำบัด เมื่อรักษาโดยการฉายแสงเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาตัวถ่างขยายผิวหนังออกและใส่เนื้อเยื่อหรือถุงซิลิโคนเพื่อเสริมเต้านมตามที่ต้องการได้ง่ายมากขึ้น
การฉายแสงเพื่อการรักษามะเร็งเต้านมระยะกระจาย
ในบางครั้งมะเร็งเต้านมจะสามารถกระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ โดยจะเรียกว่า มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือระยะกระจาย ซึ่งจะพบว่าเซลล์มะเร็งจะกระจายอยู่ที่ต่างๆ ตามร่างกาย และไม่สามารถกำจัดออกได้หมดโดยวิธีการผ่าตัดหรือการฉายแสงได้เหมือนกับมะเร็งระยะต้นๆ ดังนั้น การใช้รังสีรักษาในกรณีนี้ จะทำด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป และมักจะแนะนำให้ใช้รังสีรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ อาทิเช่น
- • เพื่อลดความเจ็บปวด
- • เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกเปราะหักง่ายจากมะเร็ง
- • เพื่อลดโอกาสเลือดออกจากก้อนมะเร็ง
- • เพื่อช่วยลดก้อนหรือเนื้อเยื่อที่ขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้ง่ายขึ้น
- • เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทไขสันหลังที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด อาการชา หรืออาการอ่อนแรง
- • เพื่อรักษามะเร็งที่ลามไปยังสมอง
ขนาดและระยะเวลาของการใช้รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะกระจายนั้นแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- • ความเจ็บปวดและความทุพพลภาพที่เกิดขึ้น
- • ขนาดของก้อนมะเร็ง
- • ตำแหน่งของมะเร็ง
- • ปริมาณรังสีที่ได้รับในการรักษาก่อนหน้า
- • การรักษาชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกัน
ผลข้างเคียงของรังสีรักษา
ผลข้างเคียงของรังสีรักษาในการรักษามะเร็งเต้านมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เช่น ชนิดของรังสีที่ใช้ ขนาดของรังสี และพื้นผิวบริเวณที่ได้รับการฉายแสง
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการบวม แดง และผิวหนังลอกในบริเวณที่ได้รับรังสีโดยตรง รวมถึงจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วยได้ ซึ่งมักจะเริ่มตั้งแต่ได้รับรังสีทันที และอาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังการรักษา หรือส่งผลยาวไปจนถึงภายหลังจบการรักษาไปแล้ว ทั้งนี้... ผิวหนังจะค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเองในภายหลัง
ผลข้างเคียงจากรังสีรักษาระยะไกล (External Beam Radiation Therapy)
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายแสง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับผิวหนังไหม้จากการโดนแดด ผิวหนังอาจจะแดงขึ้น รู้สึกคัน ปวดแสบร้อน ผิวหนังลอก และอาจเกิดผิวพุพอง รวมถึงสีผิวเข้มขึ้นได้ ซึ่งมักจะค่อยๆ เกิดขึ้นระหว่างที่ได้รับการรักษา และมักจะเกิดเฉพาะผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวหนังอ่อน เช่น บริเวณข้อพับต่างๆ บริเวณใต้ราวนม หรือบริเวณที่อยู่ในร่มผ้า มักจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าบริเวณอื่น และสำหรับผู้ป่วยบางคน ผิวหนังอาจเปลี่ยนสีอยู่เป็นปีหลังจากที่ได้รับการรักษา
ผู้ป่วยบางคนอาจพบการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดฝอยบริเวณผิวหนัง (Telangiectasia) เกิดขึ้นภายหลังการรักษาเป็นเดือน หรืออาจเป็นปี ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเลือดสีแดงเล็กๆ เกิดขึ้นเห็นได้ชัดบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายแสง ซึ่งภาวะดังกล่าวมักไม่มีอาการ แต่อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือคันได้ในบางกรณี แต่ไม่เป็นอันตราย สามารถรักษาโดยการเลเซอร์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผิวหนังอาจมีโอกาสพบได้มากขึ้น หรือรุนแรงมากขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีพื้นฐานผิวหนังที่ไม่แข็งแรง หรือมีเต้านมขนาดใหญ่ หรือมีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการซ่อมแซมผิวหนัง เช่น โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด หรือได้รับการผ่าตัด หรือได้ยาเคมีบำบัดก่อนได้รับการฉายแสง
ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- • อาการบวมบริเวณเต้านม
- • อาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- • การรับรู้ความรู้สึกของผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
- • การระคายเคืองบริเวณรักแร้
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ แต่ไม่บ่อย มีดังต่อไปนี้
- • แขนบวม โดยเฉพาะแขนด้านที่โดนตัดต่อมน้ำเหลืองออกไป
- • ภาวะไหล่ติด
- • เจ็บบริเวณหน้าอก
- • ความผิดปกติของหัวใจ
- • ความผิดปกติของปอด
ผลข้างเคียงจากรังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) ที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น บวม แดง หรืออาจะมีจุดห้อเลือด
- • เจ็บหน้าอก
- • การติดเชื้อ
- • เนื้อเยื่อหน้าอกฝ่อผิดรูป
- • มีถุงน้ำในเต้านม
การรักษาและการป้องกันภาวะข้างเคียงต่อผิวหนังที่เกิดจากรังสีรักษา
ผลข้างเคียงจากผิวหนังนั้นพบได้บ่อย แต่ผู้ป่วยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงที่เกิดการรังสีรักษาต่อผิวหนังได้ดังนี้
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง: หมั่นใช้ครีมทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังเข้ารับการฉายแสง เพื่อช่วยให้ผิวหนังแข็งแรงขึ้น และลดการระคายเคืองที่เกิดกับผิวหนัง
- แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลวมๆ ระบายอากาศได้ดี: เพื่อลดการเสียดสีที่เกิดจากเสื้อผ้า และควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อชั้นในที่แน่นจนเกินไป ที่จะกดทับผิวหนัง หรืองดใส่ชุดชั้นใน หากมีแผลบริเวณผิวหนัง
- ระมัดระวังเวลาอาบน้ำ: ควรรักษาความสะอาดของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นที่ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่ควรฉีดน้ำจากฝักบัวโดยตรงไปที่หน้าอก ควรให้น้ำค่อยๆ ไหลจากไหล่ลงไปบริเวณหน้าอกแทน และเลือกใช้สบู่อาบน้ำที่อ่อนโยน ไม่ผสมน้ำหอม โดยเฉพาะสบู่สำหรับผิวบอบบางแพ้ง่าย ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้ รวมถึงไม่ควรใช้ใยขัดตัว หรือสครับขัดผิวในบริเวณดังกล่าว
- พยายามกางแขนบ่อยๆ เท่าที่ทำได้: บริเวณข้อพับต่างๆ เช่น บริเวณรักแร้ ใต้ราวนม ระหว่างเต้านมทั้งสองข้าง อาจมีการอับชื้น เสียดสี และเป็นแผลได้ง่าย
- ใส่เสื้อชั้นในที่ช่วยประคองเต้านมได้ดี และไม่กดทับจนเกินไป: และถ้าเต้านมมีขนาดใหญ่ เมื่อไม่ได้ใส่เสื้อชั้นใน อาจหาผ้านิ่มๆ หรือสำลี มารองใต้ราวนม ไม่ให้กดทับและอับชื้น
- ใช้แป้งฝุ่นที่ไม่ผสมน้ำหอมโรยบริเวณดังกล่าวเพื่อลดความอับชื้น: ข้อควรระวังคือ ควรหลีกเลี่ยงแป้งฝุ่นที่มีส่วนผสมของ Talc หรือ Talcum Powder
- รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังก่อนที่จะเริ่มการรักษาโดยการฉายแสง: การติดเชื้อราสามารถพบได้บ่อยในบริเวณที่มีความอับชื้น ซึ่งจะทำให้ผิวหนังไม่แข็งแรง และจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการฉายแสงมากขึ้น
- ทาครีมที่ช่วยปลอบประโลมผิวหรือลดการอักเสบ: สามารถหาซื้อครีมลดการอักเสบได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรทาประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน แต่ควรงดทาก่อนไปฉายแสง 1-2 ชั่วโมง
- ประคบเย็น หรือเป่าบริเวณที่ฉายแสดงด้วยลมเย็น: จะช่วยลดอาการแสบร้อนได้
- ห้ามแคะ แกะ เกา หรือเจาะถุงน้ำที่เกิดจากการพุพองเด็ดขาด: เพราะอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อลุกลามได้ แต่ถ้าถุงน้ำแตกเอง ให้แจ้งแพทย์ และล้างทำความสะอาดแผล ปิดแผลด้วยวัสดุปิดแผลที่สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง
- ถ้ามีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อตามร้านขายยาได้: หรือปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพื่อให้คำแนะนำและจ่ายยาที่เหมาะสมให้ได้เช่นเดียวกัน
ความจำเป็นในการรับการฉายแสงอย่างต่อเนื่อง
การรักษาโดยการฉายแสงมักจะได้ผลสูงสุดเมื่อผู้ป่วยสามารถเข้ารับการฉายแสงได้ตามแผนการรักษาที่วางเอาไว้โดยไม่ขาดช่วง ซึ่งแผนการรักษาและระยะเวลาในการรักษาก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะและชนิดของรังสีรักษา ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถเข้ารับการฉายแสงได้ตามกำหนดการ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ เช่น ต้องทำงานประจำ การเดินทางไม่สะดวก ไม่สามารถมาตามนัดได้ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา จนจำเป็นต้องพักการรักษาชั่วคราวเพื่อรักษาผลข้างเคียงนั้นๆ ก่อน เป็นต้น ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่วางแผนการรักษา ผู้ป่วย และแพทย์ผู้ทำการรักษาควรพูดคุยกันให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่ามีข้อจำกัดใดๆ หรือไม่ที่อาจทำให้ไม่สามารถมาตามนัดได้ เพื่อที่จะได้ปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม และผู้ป่วยได้รับผลสัมฤทธิ์สูงสุดจากการรักษา หรือถ้าผู้ป่วยเริ่มมีผลข้างเคียงจากการรักษา ควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ให้การรักษาอย่างทันท่วงที
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงขณะเข้ารับการรักษาโดยการฉายแสง
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงมักใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการที่ควรระมัดระวัง ดังต่อไปนี้
- • ควรงดการรับประทานวิตามินเสริมจำพวก วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินดี และวิตามินอี เนื่องจากวิตามินดังกล่าวเป็นสารจำพวกสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจส่งผลรบกวนการกำจัดเซลล์มะเร็งของรังสีรักษาได้ เพราะในกระบวนการฆ่าเซลล์มะเร็งของรังสีนั้นจะอาศัยปฏิกิริยาการเกิดอนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์มะเร็ง การรับประทานวิตามินดังกล่าว อาจทำให้ปริมาณอนุมูลอิสระลดลงได้ แต่เมื่อจบคอร์สการรักษาแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมารับประทานได้ตามปกติ โดยระหว่างการรักษาแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินดังกล่าวแทน ซึ่งวิตามินที่มาจากธรรมชาติจะไม่รบกวนกระบวนการรักษา
- • ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายแสงโดนแดดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด และสามารถระบายอากาศได้ดี
- • ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแห้งและมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือถ้ามีความจำเป็นต้องว่ายน้ำ อาจพิจารณาทาวาสลีน หรือปิโตรเลียมเจลบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงเพื่อไม่ให้สัมผัสกับคลอรีนโดยตรง
- • แม้ว่าจะเข้ารับการรักษาโดยการฉายแสงจนครบแล้ว แต่ผิวหนังของคุณจะมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ดังนั้นขณะที่จำเป็นต้องออกแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป โดยเฉพาะในบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสง และควรทาอย่างน้อย 30 นาทีก่อนออกแดด รวมถึงควรทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือเมื่อผิวหนังเปียกน้ำ เพื่อให้สามารถคงประสิทธิภาพการกันแดดไว้ได้