Mammogram
การเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้มานานกว่า 50 ปี มีความปลอดภัยและความถูกต้องสูง แมมโมแกรมไม่เพียงแต่จะช่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังสามารถวินิจฉัย ประเมิน และติดตามโรคในผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย
โดยปกติ ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจดูอาการของมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก แต่หากคุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูง คุณและแพทย์ของคุณอาจเริ่มตรวจคัดกรองแมมโมแกรมก่อนอายุ 40 ปี
การวินิจฉัยด้วยแมมโมแกรม แตกต่างจากการตรวจคัดกรองแมมโมแกรม โดยการวินิจฉัยแมมโมแกรมมุ่งเน้นไปที่การหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งที่สงสัย แมมโมแกรมที่ใช้ในการวินิจฉัยจะถ่ายภาพมากกว่าแบบคัดกรอง โดยช่างเทคนิคในการตรวจแมมโมแกรมและนักรังสีวิทยาจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด
1. Mammography: ประโยชน์ ความเสี่ยง และสิ่งที่คุณต้องรู้
การตรวจแมมโมแกรมไม่ได้ป้องกันมะเร็งเต้านม แต่เป็นวิธีที่ใช้ในการค้นหามะเร็งเต้านมระยะแรกได้เร็วที่สุด โดย ผู้หญิงทุกคนควรเริ่มตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาแบบสงวนเต้านมได้มากขึ้น แทนที่จะผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า
ข้อเสียของแมมโมแกรม คือ ไม่สามารถตรวจหามะเร็งได้ชัดเจน กรณีที่มีเนื้อเยื่อเต้านมมาก เรียกว่าผลลบผิดพลาด คือไม่สามารถระบุความผิดปกติที่มีได้ ทั้งๆ ที่มีมะเร็งซ่อนอยู่ นอกจากความกังวลเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมแล้ว การทดสอบเพิ่มเติมและการติดตามผลก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรเรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเข้ารับการตรวจเต้านมเป็นประจำ และในบางกรณี ก็ควรตรวจ MRI หรืออัลตร้าซาวด์เพิ่มเติม
บางคนอาจกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการได้รับรังสีจากการตรวจเต้านม แต่การถ่ายภาพรังสีสมัยใหม่นั้น ใช้รังสีเพียงเล็กน้อย (น้อยกว่าการเอกซเรย์หน้าอกมาตรฐาน) จึงมีความเสี่ยงต่ำมาก
สิ่งสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับแมมโมแกรม
- การตรวจแมมโมแกรมสามารถช่วยชีวิตคุณได้ หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ 25-30% หรือมากกว่า ผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ควรเริ่มทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี และอาจเริ่มทำเร็วกว่านั้นหากมีความเสี่ยงสูง
- อย่ากลัว ขั้นตอนในการทำแมมโมแกรมนั้นรวดเร็ว (ประมาณ 20 นาที) และเจ็บน้อยมาก อีกทั้งยังปลอดภัย เพราะใช้ปริมาณรังสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ แนะนำให้เลือกตรวจในศูนย์ที่สามารถทราบผลทันทีในวันนั้นเพื่อลดความวิตกกังวลในการรอผล
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจ หากคุณมีเนื้อเต้านมที่หนาแน่น หรือมีอายุต่ำกว่า 50 ปี แนะนำให้ ตรวจแบบ Digital Mammogram เพราะโดยการบันทึกภาพแบบดิจิทัลจะช่วยให้แพทย์สามารถขยายภาพดูได้ชัดเจนขึ้น
2. Mammogram แสดงผลอะไรได้บ้าง?: หินปูน, ซีสต์, เนื้องอก
การคัดกรองแมมโมแกรมส่วนใหญ่นั้น เป็นการถ่ายภาพเต้านมในสองมุมมอง แต่ดิจิตอลแมมโมแกรมจะถ่ายรูปในมุมที่มากกว่านั้น แม้ว่าคุณจะมีก้อนเนื้อในเต้านมเพียงเต้าเดียว ภาพก็จะถูกถ่ายจากเต้าทั้งสองข้าง เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างและสามารถตรวจสอบความผิดปกติอื่นๆ ได้ หากคุณเคย ตรวจเต้านมมาก่อนแล้ว นักรังสีวิทยาจะนำผลเก่ามาเปรียบเทียบเพื่อหาการเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่กำลังตรวจหาโรคมะเร็ง แพทย์ของคุณอาจพบกับก้อนหรือรอยโรคในเต้านมที่ควรได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม เช่น
หินปูน : เป็นแคลเซียมเกล็ดเล็กๆ ลักษณะเหมือนเม็ดเกลือในเนื้อเยื่ออ่อนของเต้านม ซึ่งบางครั้งก็สามารถบ่งบอกถึงการเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรกได้ มักจะไม่มีอาการแสดง แต่จะตรวจพบจากแมมโมแกรม แพทย์ของคุณอาจต้องการทำการทดสอบเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่าง ขนาด และจำนวนของหินปูนที่ตรวจพบ
หินปูนขนาดใหญ่ (Macrocalcifications) : มักจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ในขณะที่กลุ่มของหินปูนเล็กๆ จะมีความเกี่ยวข้องกับเซลล์เต้านมที่เจริญเติบโตมากกว่าปกติ ซึ่งโดยมากไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็อาจพบลักษณะแบบนี้ ได้ในมะเร็งระยะแรก
ซีสต์ : หรือถุงน้ำ มีความแตกต่างจากเนื้องอกมะเร็ง โดยซีสต์เป็นมวลที่เต็มไปด้วยของเหลว ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับมะเร็ง การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแยกซีสต์ออกจากมะเร็ง เพราะคลื่นเสียงไหลผ่านถุงที่เต็มไปด้วยของเหลวได้ง่าย ในทางกลับกันคลื่นเสียงจะผ่านก้อนแข็งได้ยาก
เนื้องอกเต้านม (Fibroadenoma) : มักมีลักษณะที่เคลื่อนที่ได้ ก้อนแข็งกลม ประกอบด้วยเซลล์เนื้อเต้านมปกติ ในบางครั้งอาจเติบโตและมีก้อนเนื้อแข็งๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมักถูกผ่าตัดออกไปเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ก้อนมะเร็ง เป็นเนื้องอกเต้านมที่พบมากที่สุดโดยเฉพาะในหญิงสาว
2.1 การทำความเข้าใจเกี่ยวกับหินปูนในเต้านม
หินปูนคือการสะสมของแคลเซียมเล็กๆ ที่ปรากฏบนแมมโมแกรมเป็นจุดสีขาวสว่าง หรือจุดบนเนื้อเยื่อของเต้านม เนื่องจากแคลเซียมจะดูดซับรังสีเอกซ์จากแมมโมแกรมได้อย่างง่ายดาย โดยทั่วไปหินปูนหรือแคลเซียมจะไม่แสดงผลใน Ultrasounds และ MRI เต้านม หินปูนนั้นเป็นสิ่งที่พบบ่อยในการตรวจแมมโมแกรม และเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหลังหมดประจำเดือน
หินปูนหรือแคลเซียมในเต้านมไม่สัมพันธ์กับแคลเซียมในอาหารของคุณ มันไม่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเต้านม และโดยส่วนใหญ่ไม่เป็นพิษเป็นภัย (ไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง) เช่น เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น คุณก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนกลายเป็นหินปูน หรือบางครั้งเซลล์ต่อมของเต้านมสามารถหลั่งแคลเซียมไปยังท่อได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดหินปูนในเต้านม มีดังนี้:
- การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อในเต้านม
- เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งในเต้านม เช่น ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenomas) หรือถุงน้ำเต้านม (Cyst )
- การฉายแสงในเต้านม
- การสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดภายในเต้านม (เป็นกระบวนการเดียวกับที่แคลเซียมถูกสร้างขึ้นในหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยมักจะเป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด)
ทั้งนี้ ในบางครั้งหินปูนอาจเป็นการพัฒนาของมะเร็งทั้งชนิดที่ยังอยู่ในแหล่งกำเนิด (DCIS) หรือชนิดที่เริ่มมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านมข้างเคียง (IDC) โดยเมื่อมีเซลล์ที่เติบโตมากกว่าปกติ และหนาแน่นจนเกิดการตายของเซลล์ อาจทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายสภาพเป็นหินปูนในรูปแบบของแคลเซียมได้ เมื่อพบแคลเซียมลักษณะนี้ในแมมโมแกรม จะจัดว่าเป็นหินปูนที่มีคุณสมบัติที่น่าสงสัย ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม หากคุณตรวจพบหินปูนใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน แพทย์รังสีจะพยายามหาลักษณะที่บ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่หินปูนนั้นเป็นเพียงเซลล์ผิดปกติธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งได้ เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นจะต้องกังวลจนกว่าการตรวจจะสิ้นสุด
วิธีการแยกลักษณะของหินปูนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่?
ลักษณะของหินปูน สามารถแยกได้ดังนี้
- หินปูนที่เป็นเนื้องอกธรรมดา
- หินปูนที่มีโอกาสที่จะเป็นเนื้องอกธรรมดา
- หินปูนที่มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็ง
โดยในการจำแนกประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะ และการกระจายตัวของหินปูนในเต้านม
2.1 การทำความเข้าใจเกี่ยวกับหินปูนในเต้านม
หินปูนคือการสะสมของแคลเซียมเล็กๆ ที่ปรากฏบนแมมโมแกรมเป็นจุดสีขาวสว่าง หรือจุดบนเนื้อเยื่อของเต้านม เนื่องจากแคลเซียมจะดูดซับรังสีเอกซ์จากแมมโมแกรมได้อย่างง่ายดาย โดยทั่วไปหินปูนหรือแคลเซียมจะไม่แสดงผลใน Ultrasounds และ MRI เต้านม หินปูนนั้นเป็นสิ่งที่พบบ่อยในการตรวจแมมโมแกรม และเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหลังหมดประจำเดือน
ลักษณะโดยทั่วไปของหินปูนที่เป็นเนื้องอกธรรมดา:
- มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 มม.
- มีขอบเขตชัดเจนและรูปร่างคล้ายคลึงกัน
- ไม่กระจุกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม
ลักษณะโดยทั่วไปของหินปูนที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง:
- มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มม.
- ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป
- มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่หนึ่งๆ ของเต้านม
หากหินปูนนั้นน่าสงสัย จำเป็นต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม
หมายเหตุ: หากพบว่ามีหินปูนอยู่บริเวณผิวหนังซึ่งอาจเกิดจากแป้งหรือน้ำยาระงับกลิ่นกายที่ตกค้างได้ ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่นเดียวกับการพบหินปูนภายในหลอดเลือดของเต้านม
ขนาด: หินปูนขนาดใหญ่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่ำ
โดยเราสามารถแยกได้เป็น
- Macrocalcifications: หินปูนชนิดนี้มีขนาดใหญ่มากกว่า 0.5 มิลลิเมตร โดยทั่วไปมักพบลักษณะเรียงตัวเป็นเส้นหรือเป็นจุดกระจายภายในเต้านมจากแมมโมแกรม เกือบทุกกรณีที่มีลักษณะแบบนี้ ไม่สัมพันธ์กับมะเร็งและไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม จะพบได้มากในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจาก 50 ปี
- Microcalcification: หินปูนขนาดเล็ก น้อยกว่า 0.5 มม. มีลักษณะเป็นเกล็ดหรือคล้ายกับเม็ดเกลือขนาดเล็ก หินปูนชนิดนี้สัมพันธ์กับมะเร็งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะการวางตัวและการกระจายตัว อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมีการผสมผสานระหว่างหินปูนขนาดใหญ่และเล็ก
ลักษณะ: ขนาดและรูปร่างของหินปูนมีความสัมพันธ์กับมะเร็ง
หากหินปูนมีลักษณะมาตรฐาน คือ ไม่ได้มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมาก ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เป็นมะเร็งสูง เช่น Macrocalcifications มีลักษณะกลมขอบชัด ซึ่งปกติพบได้ในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 อาจเกิดจากเซลล์ไขมันที่ตายหรือหินปูนที่มาเกาะบริเวณถุงน้ำ
ลักษณะของหินปูนที่มีขนาดใหญ่หยาบหรือที่เรียกว่า “Popcorn-like” นั้น สัมพันธ์กับเนื้องอกชนิด Fibroadenoma ซึ่งเป็นหินปูนที่เรียงตัวเป็นเส้นตรงอยู่ภายในท่อน้ำนม อาจพบได้ทั้งสองข้าง มักสัมพันธ์กับโรคบริเวณท่อน้ำนม Ectasia Duct โดยเกิดจากการที่ท่อน้ำนมมีการขยายตัวแล้วมีของเหลวมาแทนที่ในท่อน้ำนม ส่วนหินปูนจากการผ่าตัดหรือการฉายแสงอาจพบได้บริเวณหน้าอกในตำแหน่งนั้นๆ
หินปูนขนาดเล็กที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน เรียกว่า Pleomorphic Calcification มักรวมกลุ่มกันในบริเวณหนึ่งของเต้านม หินปูนชนิดนี้สัมพันธ์กับโรคมะเร็งเต้านมได้ทั้งแบบ ยังไม่ลุกลาม (DCIS) และมะเร็งชนิดลุกลาม
การกระจายและปริมาณ: ยิ่งมีหินปูนจับกันเป็นกลุ่ม ยิ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งมากขึ้น
การมีหินปูนอยู่เป็นกลุ่มในส่วนใดส่วนหนึ่งของเต้านม แสดงถึงความผิดปกติบางอย่างในเนื้อนมส่วนนั้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้สูง แต่หากหินปูนกระจายทั่วเต้านมหรือทั้ง 2 ข้าง โอกาสเกิดมะเร็งจะต่ำกว่า
แพทย์รังสีวิทยาบางคนคิดว่ามีการมีหินปูนตั้งแต่ห้าจุดขึ้นไปในกลุ่มนั้นๆ มีความน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งมากขึ้น ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่จำนวนในการวินิจฉัยที่แน่นอน และต้องตรวจเพิ่มเติมถึงแม้ว่าจะมีหินปูนน้อยกว่าห้าจุดก็ตาม ในปัจจุบัน ไม่มีกฎที่ตายตัวและแม่นยำมากพอในการดูจำนวน ลักษณะ และขนาดของหินปูน
การประเมินและติดตามร่องรอยของหินปูน
หากมีการพบหินปูนในการตรวจแมมโมแกรมของคุณ แพทย์รังสีจะทำการเปรียบเทียบกับผลการตรวจเดิม ว่าหินปูนนี้เกิดขึ้นใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่ โดยอาจมีการตรวจโดยใช้แมมโมแกรมแบบขยายบางส่วน เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม เทคนิคการตรวจเต้านมแบบพิเศษนี้จะช่วยให้สามารถดูตำแหน่งที่สงสัยในจุดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจแบบบีบอัดเฉพาะจุดซึ่งใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กเพื่อทำให้บริเวณเต้านมแบนราบ เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้น
รังสีแพทย์จะอธิบายลักษณะของหินปูน ดังนี้
- Clearly Benign: ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม
- Likely Benign: แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 6 เดือน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลง
- Somewhat or Very Suspicious: แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม
การตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม สามารถทำได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ และใช้เข็มเจาะไปยังตำแหน่งของหินปูน โดยใช้แมมโมแกรมเป็นตัวนำเข็มไปยังตำแหน่ง เนื่องจากหินปูนมีขนาดเล็กเกินกว่าจะระบุด้วยวิธีอื่น การตรวจแบบนี้เรียกว่า Stereotactic Biopsy ในบางกรณีแพทย์ของคุณอาจตรวจโดยใช้อัลตราซาวนด์หรือ MRI ก่อน แม้ว่าโดยทั่วไปอาจมองไม่เห็นหินปูนในการทดสอบ แต่การทดสอบเหล่านี้ จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่อาจเป็นมะเร็ง ซึ่งช่วยเพิ่มเติมข้อมูลสำหรับการตรวจชิ้นเนื้อ
คุณอาจกังวลเกี่ยวกับการตรวจชิ้นเนื้อ แต่โดยมากหินปูนที่ตรวจมักเป็นเซลล์ที่ไม่ใช่มะเร็ง นอกจากนั้นแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณกลับมาอีก 6 เดือนเพื่อตรวจเต้านมซ้ำ เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของหินปูน หรืออาจแนะนำให้คุณตรวจคัดกรองปกติประจำปี ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้อาจขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผลการตรวจชิ้นเนื้อและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมของคุณ
หากการตรวจชิ้นเนื้อพบเซลล์ที่ผิดปกติใดๆ (Atypia) แพทย์ของคุณอาจจะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการผ่าตัด เพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อขนาดใหญ่และมั่นใจว่าไม่มีมะเร็งจริงๆ หรือหากพบมะเร็งเต้านมก็จะได้รับการรักษาตามการวินิจฉัย
การพบหินปูนหลังจากรักษามะเร็งเต้านมและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ถ้าคุณเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูง เช่น มีประวัติพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติ คุณจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษเมื่อคุณตรวจพบหินปูนในแมมโมแกรม ถึงแม้ว่าหินปูนส่วนใหญ่อาจไม่ใช่มะเร็ง และการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การเสริมสร้างเต้านมใหม่ หรือการฉายแสงสามารถทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและเกิดแผลเป็น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เจอหินปูนในแมมโมแกรมได้ แต่เนื่องจากคุณมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปในการเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์ของคุณจึงต้องตรวจหินปูนของคุณอย่างละเอียด และอาจแนะนำให้คัดกรองด้วย MRI แทนการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงและการตัดสินใจของคุณกับแพทย์
3. ผลการตรวจ Mammogram: Breast Imaging Reporting and Database System (BI-RADS)
แพทย์รังสีวิทยาในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ใช้ระบบการรายงานและฐานข้อมูลการถ่ายภาพเต้านมหรือ BI-RADS เพื่อรายงานผลการตรวจแมมโมแกรม โดย American College of Radiology (ACR) ได้สร้างระบบนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรายงานสิ่งที่ตรวจพบ แนวทางการรักษา และการวางแผนติดตามอาการ ไว้ดังนี้
Breast Imaging Reporting and Database System (BI-RADS)
Category | Assessment | Follow-up |
---|---|---|
0 Need Additional Imaging Evaluation | ต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น | ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อน จึงจะสามารถวางแผนได้ |
1 Negative | ตรวจไม่พบความผิดปกติ หรือความผิดปกตินั้นไม่มีนัยยะสำคัญ | ตรวจคัดกรองแมมโมแกรมในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป |
2 Benign (Noncancerous) Finding | ตรวจพบความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น หินปูน หรือเนื้องอก เช่น Fibroadenoma Cyst | ตรวจคัดกรองแมมโมแกรมในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป |
3 Probably Benign | ตรวจพบความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ควรนัดตรวจติดตามในระยะสั้นเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง | นัดติดตามอาการ และทำแมมโมแกรมในอีก 6 เดือน |
4 Suspicious Abnormality | ความผิดปกติมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็ง | ควรจะตรวจชิ้นเนื้อ |
5 Highly Suggestive of Malignancy (Cancer) | ความผิดปกติมีลักษณะอาจเป็นมะเร็งสูง | มีความจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อ |
6 Known Biopsy-proven Malignancy (Cancer) | ความผิดปกติได้รับการพิสูจน์โดยชิ้นเนื้อแล้วว่าเป็นมะเร็ง | ได้รับการเจาะชิ้นเนื้อยืนยันแล้วว่าเป็นมะเร็ง |
รายงานผลแมมโมแกรม ยังมีการประเมินความหนาแน่นของหน้าอก เปรียบเทียบระหว่างเนื้อเยื่อเต้านมและไขมัน โดยเนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นเต้านมสูง (Dense Breasts) นั้น จะ:
- มีความเสี่ยงเป็นสองเท่าในการเป็นมะเร็ง เมื่อเทียบกับเต้านมที่ความหนาแน่นเต้านมต่ำ
- ทำให้การตรวจเมมโมแกรมยากขึ้น เนื่องจากเนื้อเต้านมจะไปบดบังความผิดปกติต่างๆ มะเร็งเต้านม (ซึ่งมีลักษณะเป็นสีขาวคล้ายกับเนื้อเยื่อเต้านม)
การประเมิน BIRADS ได้แบ่งความหนาแน่นของเนื้อเต้านมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
- Mostly Fatty: เต้านมส่วนใหญ่เป็นไขมันและมีเนื้อเยื่อที่มีเส้นใยและต่อมน้อย ซึ่งหมายความว่าแมมโมแกรมจะแสดงสิ่งที่ผิดปกติได้ชัดเจน
- Scattered Density: เต้านมมีไขมันเพียงเล็กน้อย และมีบางส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อเต้านม
- Consistent Density: เต้านมมีเนื้อเยื่อกระจายทั่วๆ ทำให้ยากต่อการพบความผิดปกติขนาดเล็ก
- Extremely Dense: มีเนื้อเยื่อเต้านมปริมาณมาก ทำให้ยากต่อการเห็นความผิดปกติ เนื่องจากมะเร็งจะกลืนไปกับเนื้อเยื่อเต้านมที่มีสีขาว