การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
มียาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดหลายตัวที่ได้รับการรับรองเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น
• Jemperli (Chemical Name: Dostarlimab-gxly)
ใช้ในการรักษาผ่านกลไกที่มีการเกิดมะเร็งจาก Mismatch Repair Deficient ซึ่งพบได้ประมาณ 1%ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด ใช้ในกลุ่มมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่ไม่มีทางเลือกในการให้ยาอื่นๆ
• Keytruda (Chemical Name: Pembrolizumab)
ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดในกลุ่มมะเร็งเต้านมระยะลุกลามหรือมีการแพร่กระจาย ชนิดไม่มีตัวรับฮอร์โมน และไม่มีตัวรับ Her2 แต่มีโปรตีน PD-L1
ภูมิคุ้มกันบำบัดคืออะไร?
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์เป็นการทำงานร่วมกันของ อวัยวะ เนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายหลายชนิด มีหน้าที่ในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ต่อร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ เช่น การเกิดโรค หรือเกิดการติดเชื้อ (ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และปรสิตอื่นๆ) เมื่อสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้มีการจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงโรคที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย
การรักษาโดยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ยาที่ส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ได้มาจากทั้งการสกัดภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นและสังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกัน ออกฤทธิ์โดยการ:
• หยุดหรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
• ป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย
• ช่วยให้ร่างกายกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น ร่างกายจำเป็นต้องมีการแบ่งแยกก่อนว่า สิ่งไหนเป็นเซลล์ของร่างกาย และสิ่งไหนเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งกลไกนี้มักจะอาศัยการตรวจจับโปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์หรือโปรตีนภายในเซลล์ หากระบบภูมิคุ้มกันตรวจสอบแล้วสามารถรับรู้ได้ว่าเป็นเซลล์ของร่างกาย จะเกิดการยับยั้งไม่ให้ทำอันตรายต่อเซลล์นั้น หากเกิดความผิดปกติในระบบการตรวจจับนี้ เช่น ในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (Autoimmune Disorders) ร่างกายอาจจะเกิดการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเองได้
ในกรณีที่ร่างกายตรวจจับพบโปรตีนของเซลล์ที่ระบุว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antigen) ร่างกายจะมีระบบส่งสัญญาณให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อให้เกิดการยับยั้งหรือทำลายเซลล์นั้น ป้องกันการเกิดอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
ในกรณีของมะเร็งเต้านม ระบบภูมิคุ้มกันอาจจะไม่สามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งหากไม่ได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ
1. เซลล์มะเร็งเต้านมเริ่มพัฒนามาจากเซลล์ปกติของเต้านม ในกระบวนการเกิดมะเร็งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ปกติของร่างกายไปเพียงเล็กน้อย ทำให้ร่างกายไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างเซลล์มะเร็งกับเซลล์ปกติของร่างกายได้ แตกต่างจากการตรวจจับสิ่งแปลกปลอมที่มาจากภายนอกร่างกายเช่นเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งมักจะมีโปรตีนที่แตกต่างจากเซลล์ปกติของร่างกายค่อนข้างชัดเจน ทำให้เกิดการตรวจจับง่ายขึ้น แต่ในบางกรณีเซลล์มะเร็งที่เซลล์มะเร็งเติบโตขึ้นอาจมีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติที่ร่างกายสามารถตรวจพบได้เช่นกัน ซึ่งหากร่างกายสามารถตรวจพบได้ ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้ามาจัดการยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้เจริญเติบโตต่อไป
2. ในขณะที่เกิดการพัฒนา บางครั้งเซลล์มะเร็งก็สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ จากการศึกษาเซลล์มะเร็งพบว่า เซลล์ที่ผิดปกติไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปกติแบบทันทีทันใด แต่ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตามลำดับจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในระดับโครงสร้างของเซลล์ จนทำให้เกิดกลไกการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และหากร่างกายไม่สามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ เซลล์มะเร็งจะสามารถสร้างกลไกอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
โดยทั่วไปยาที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ยาที่ใช้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Active Immunotherapies)
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการนำเซลล์มะเร็งไปตรวจสอบในห้องทดลองเพื่อสร้างสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ที่จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง ทำให้ร่างกายสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น Cancer Vaccines, Adoptive Cell Therapy
2. ยาที่เป็นภูมิคุ้มกัน (Passive Immunotherapies)
ยากลุ่มนี้เป็นภูมิคุ้มกันที่สกัดมาแล้ว ช่วยให้ร่างกายกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น แตกต่างจากกลุ่มแรกคือ ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Immune Checkpoint Inhibitors หรือ Cytokines
เนื่องจากยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดนี้เป็นยาที่ช่วยในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมักใช้เวลานาน ในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ควรให้ยาผู้ป่วยแต่ละคนนานเท่าไร
ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า การผสมผสานการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น Vaccines ร่วมกับ Checkpoint Inhibitors อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการรักษาร่วมกับยากลุ่มอื่นๆด้วย เช่น ยามุ่งเป้า (Targeted Therapies)
ปัจจุบันยังมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงกลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็งและยาต่างๆ เพื่อเพิ่มการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการศึกษาเพื่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามข้อมูลต่อไป
ผู้ป่วยแบบใดที่เหมาะสมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด?
ยาในกลุ่มนี้ถือเป็นยาที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบการการรักษาอื่นๆ ที่ใช้กันมายาวนาน เช่น การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี ยาฮอร์โมนบำบัด จากข้อมูลในปัจจุบัน ยังยากที่จะบอกได้ว่าใครที่เหมาะสม หรือจะได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยยาในกลุ่มนี้ ซึ่งยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม การวิจัยส่วนมากมักจะมุ่งศึกษายากลุ่มนี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ชนิดที่ไม่มีตัวรับยามุ่งเป้าและยาฮอร์โมนบำบัด (Triple Negative Breast Cancer)
ในปัจจุบัน พบข้อมูลมากขึ้นว่า มะเร็งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน และแม้เป็นมะเร็งชนิดเดียวกันก็ยังอาจมีความแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ข้อมูลจากการศึกษาของ Professor Emens ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง จาก Pitssburge Medical Center Hillman Cancer Center พบว่าสาเหตุหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยกลุ่ม Triple Negative Breast Cancer จะได้รับประโยชน์จากยากลุ่มนี้เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ระดับยีน (Genetic Mutation) ของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ค่อนข้างมากกว่ามะเร็งเต้านมชนิดอื่น ซึ่งหากยิ่งมีการกลายพันธุ์มาก ก็จะมีการผลิตสารที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ได้มากขึ้น นำไปสู่การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อยับยั้งหรือกำจัดเซลล์มะเร็ง
มีความพยายามในการค้นคว้าปัจจัยในการพยากรณ์ผลการรักษา (Predictive Factors) ของการใช้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดนี้เพิ่มเติม รวมไปถึงการศึกษาโปรตีน PD-L1 ซึ่งเป็นโปรตีนที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยหากได้รับยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ไปยับยั้งกลไกนี้ ผู้ป่วยควรจะมีผลในการรักษาในทางที่ดี แต่ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้ผลการรักษาที่ดี แสดงถึงว่ายังอาจมีกลไกอื่นๆ ที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป