ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
1. ลดฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
2. ขัดขวางฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายไม่ให้ทำงาน
โดยทั่วไปเอสโตรเจนสร้างมาจากรังไข่ของผู้หญิง ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งในกลุ่มผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวก ดังนั้นการลดจำนวนของเอสโตรเจน และขัดขวางตัวเอสโตรเจนไม่ให้ทำงานสามารถลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม และสามารถลดขนาดของก้อนมะเร็ง หรือชะลอให้ก้อนมะเร็งโตช้าลงได้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ในขณะเดียวกันยาต้านฮอร์โมนไม่สามารถรักษามะเร็งในผู้ป่วยที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นลบได้
ยาต้านฮอร์โมนมีหลายกลุ่ม เช่น Aromatase Inhibitor (AI), Selective Estrogen Receptor Modulator (SERM), Estrogen Receptor Down Regulator (ERD)
ในผู้ป่วยบางรายในระหว่างกระบวนการรักษา แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง เพื่อลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม หรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้ที่มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก (อาทิ ผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมของมะเร็งเต้านม) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาบางประเภทเพื่อกดการทำงานของรังไข่ชั่วคราวได้
สิ่งสำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรทราบ คือ ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) นั้นไม่ใช่ยาฮอร์โมนทดแทน (Hormonal Replacement Therapy) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะวัยทอง ยาดังกล่าวไม่สามารถเอามาใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากยามีผลทำให้เพิ่มจำนวนเอสโตรเจนในร่างกายมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับยาต้านฮอร์โมนที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม
การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน
การรักษาโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นการรักษาแบบกำจัดเซลล์มะเร็งเต้านมทั่วร่างกาย (Systemic Treatment) โดยทั่วไปพบว่าผู้ป่วยที่มีตัวรับเอสโตรเจนนั้น
- 80% ของมะเร็งเต้านมมีตัวรับเอสโตรเจนที่เป็นบวก
- 65% พบว่าตัวรับเอสโตรเจนที่เป็นบวก มีตัวรับโปรเจสเตอโรนที่เป็นบวกด้วยเช่นกัน
- 13% ของมะเร็งเต้านม มีตัวรับเอสโตรเจนที่เป็นบวก และตัวรับโปรเจสเตอโรนที่เป็นลบ
- 2% มีตัวรับเอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรนที่เป็นลบ
ยาต้านฮอร์โมนมี 3 ชนิด
1. Aromatase Inhibitor:
a. Arimidex (Anastrozole)b. Aromasin (Exemestane)
c. Femera (Letrozole)
2. SERMs
a. Tamoxifen
b. Evista (Raloxifene)
c. Fareston (Toremifene)
3. ERDs
a. Faslodex (Fulvestrant)
ยาต้านฮอร์โมนสามารถลดอัตราการเกิดซ้ำในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มได้ดี สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูง และสามารถลดขนาดก้อนมะเร็ง และยืดระยะเวลาการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งในผู้ป่วยที่เป็นระยะแพร่กระจายได้
เอสโตรเจนในร่างกายมีหลากหลายหน้าที่ เช่น ทำให้กระดูกแข็งแรง สามารถลดค่าคอเรสเตอรอลได้ และยังทำให้ผู้หญิงเราสวยขึ้น ไม่แก่ไว
ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดผลิตเอสโตรเจน แต่ต่อมหมวกไตจะกระตุ้นเซลล์ไขมันใต้ผิวหนังให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน
การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน แนะนำให้ทานยาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวกเท่านั้น ในกรณีที่ตัวรับเอสโตรเจนเป็นลบยาต้านฮอร์โมนจะไม่ตอบสนองต่อมะเร็ง การรักษาจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงไม่แนะนำให้ทานยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
Aromatase Inhibitor (AI)
ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) มี 2 ข้าง ทำหน้าที่ผลิต Androgen โปรตีน และกล้ามเนื้อจะมี Enzymes ชื่อว่า Aromatase ทำหน้าที่เปลี่ยน Androgen ให้กลายเป็น Estrogen
Aromatase Inhibitor เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน ทำให้จำนวนเอสโตรเจนลดลง และป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำได้ Aromatase Inhibitor ทำหน้าที่หยุด Enzyme Androgen Hormone ให้เปลี่ยนไปเป็น Estrogenในร่างกาย ทำให้จำนวนเอสโตรเจนในร่างกายน้อยลง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มยา Aromatase Inhibitor ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
1. Arimidex (ชื่อทางเคมี: Anastrozole)
2. Aromasin (ชื่อทางเคมี: Exemestrane)
3. Femera (ชื่อทางเคมี: Letrozole)
วิธีใช้ ให้กิน 1 เม็ด วันละครั้ง
Aromatse Inhibitor (AI) ไม่สามารถยับยั้งการสร้างเอสโตรเจนที่รังไข่ได้ ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มยาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน การใช้ AI มีผลการรักษาที่ดีกว่าการใช้ Tamoxifen นักวิจัยบางกลุ่มจึงมีแนวคิดจะนำ AI มาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จากงานวิจัย SOFT (Suppression of Ovarian Function Trail) ที่ตีพิมพ์ในปี 2015 พบว่า ผู้ป่วยวัยก่อนหมดประจำเดือนสามารถใช้ยา AI ได้ โดยต้องทานยากดการสร้างเอสโตรเจนที่รังไข่ควบคู่ยากลุ่ม AI โดยในงานวิจัยใช้ยา Aromasin แทน Tamoxifen
ยา AI ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ให้นมบุตร หรือตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่พยายามตั้งครรภ์ เพราะยาจะไปทำลายทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ผู้ป่วยต้องคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัดด้วยวิธีที่ไม่มีผลกับยาต้านฮอร์โมนที่กินอยู่เพื่อรักษามะเร็งเต้านม เช่น การสวมถุงยางอนามัยแบบสวมของผู้ชายหรือของผู้หญิง การคุมกำเนิดแบบใส่ห่วงอนามัยที่ช่องคลอด และควรปรึกษาแพทย์ว่าวิธีการคุมกำเนิดแบบไหนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด
ประโยชน์ของ Aromatase Inhibitor
มีหลายงานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาด้วย AI และ Tamoxifen ว่ายาชนิดไหนให้ผลการรักษา และตอบสนองกับมะเร็งเต้านมได้ดีกว่ากัน พบว่าหลังผู้ป่วยผ่าตัด และฉายแสงแล้ว ยา AI เป็นยาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน และผลข้างเคียงรุนแรงยังน้อยกว่า Tamoxifen
มีการแนะนำให้ผู้ป่วยทานยาแบบวิธีสลับคือให้ Tamoxifen 2 ปีแล้วต่อด้วยยา AI อีก 3 ปี (รวม 5 ปี) พบว่าผลการรักษาดีกว่าให้ยา Tamoxifen ต่อเนื่องยาว 5 ปีและพบว่าการให้ Tamoxifen 5 ปี แล้วต่อด้วยยา AI อีก 5 ปี ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้ดีกว่าการกิน Tamoxifen เพียงอย่างเดียว 5 ปี
ผลข้างเคียงของ AI
AI มีผลข้างเคียงน้อยกว่า Tamoxifen เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน การเกิดเส้นเลือดในสมองแตก มะเร็งโพรงมดลูก ซึ่งผลข้างเคียงของ AI เช่น โรคหัวใจ มวลกระดูกบางลง และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มากกว่า ฉะนั้นผู้ป่วยที่ทาน AI ควรได้รับการเช็คมวลกระดูกในช่วง1-2 ปีแรกที่ทานยา ผลข้างเคียงที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ทานยา AI คือ ปวดตามข้อกระดูก หรือ ข้อติดได้ ถ้าผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากยา สามารถที่จะแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อเปลี่ยนยาตัวอื่นได้ เช่น Aromasin
Selective Estrogen Receptor Modulators (SERMs)
SERMs ทำหน้าที่ยับยั้งเอสโตรเจนที่เต้านมโดยการเข้าแย่งจับกับตัว Receptor แทนที่เอสโตรเจน ทำให้มะเร็งไม่กลับมาเป็นซ้ำได้ เซลล์ในร่างกายอื่นๆ เช่น กระดูก และมดลูก ก็มี Estrogen Receptor แต่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป แต่ยากลุ่ม SERMs เลือกที่จะบล็อกเซลล์เต้านมอย่างเดียว ในขณะที่ยาจะไปเสริมการทำงานของเซลล์ที่กระดูก ตับ และมดลูกด้วย
SERMs แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
- Tamoxifen เป็นยาชนิดเม็ด (อีกชื่อเรียกว่า Tamoxifen Citrate, ชื่อทางการค้า: Nolvadex) และชนิดน้ำ (ชื่อทางการค้า: Soltamox)
- Evista (ชื่อทางเคมี: Raloxifen)
- Fareston (ชื่อทางเคมี: Toremifene)
วิธีใช้ ให้กิน 1 เม็ด วันละครั้ง ยกเว้นยาชนิดน้ำ
เนื่องจาก Tamoxifen เป็นยาที่เก่าแก่ที่สุด เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และมีการใช้มากที่สุด ในหลายๆงานวิจัยจึงมีการนำเอา Tamoxifen มาเปรียบเทียบ AI เพื่อดูผลการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จากงานวิจัยต่างๆแพทย์แนะนำว่า AI เป็นยาต้านฮอร์โมนที่ดีทีสุดในผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน และผลข้างเคียงที่รุนแรงบางชนิดน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ Tamoxifen
การใช้ยาแบบสลับ โดยการทาน Tamoxifen 2 ปี แล้วต่อด้วย AI 3 ปี พบว่าได้ประโยชน์มากกว่าใช้ Tamoxifen เพียงอย่างเดียว 5 ปี สามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ และการใช้ Tamoxifen 5 ปี ต่อด้วย AI อีก 5 ปี พบว่าสามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งมากกว่าการใช้ Tamoxifen เพียงอย่างเดียว 5 ปี ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน ยาต้านฮอร์โมนที่ใช้ควรเป็น Tamoxifen
ผลข้างเคียงของ SERMs
ผลข้างเคียงที่รุนแรงของการใช้ยากลุ่ม SERMs ได้แก่ ลิ่มเลือดอุดตัน และมะเร็งโพรงมดลูก หากแพทย์มีการสั่งยาในกลุ่ม SERMs ควรแจ้งโรคประจำตัว เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหัวใจ หรือผู้ช่วยสูบบุหรี่เป็นประจำ เพื่อแพทย์จะได้เปลี่ยนยากลุ่มอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า
นอกจากนี้ SERMs ยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น เลือดออกช่องคลอดผิดปกติ ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ขาบวม หรือปวดขามาก เจ็บแน่นหน้าอก หายใจขัด แขนขาอ่อนแรง หน้าชา ตาพร่ามัว มึนงงมาก ปวดหัวมาก
และอาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ร้อนๆ หนาวๆ วูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน ตกขาวผิดปกติ อารมณ์หงุดหงิดง่าย
ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม SERMs ในผู้ป่วยที่ให้นมบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์ เพราะยาชนิดนี้มีผลกับทารกในครรภ์ ควรคุมกำเนิด เช่น ใช้ถุงยางอนามัย หรือใส่ห่วงอนามัยที่ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเคลือบอยู่ ประโยชน์ที่ได้จาการทานยากลุ่ม SERMs คือ มวลกระดูกจะหนาขึ้น และชลอการเกิดกระดูกเสื่อม
Estrogen Receptor Down Regulators (ERDs)
ทำหน้าที่ยับยั้งเอสโตรเจนที่เต้านม เช่นเดียวกับในกลุ่ม SERMs โดยทำหน้าที่ ลดจำนวน Estrogen Receptor และเปลี่ยนรูปร่างเซลล์ Estrogen Receptor ให้ไม่สามารถทำงานได้
Faslodex คือชื่อทางเคมีของ Fulvestrant ซึ่งเป็นยาเพียงตัวเดียวในกลุ่ม ERDs
หลักการคือ เอสโตรเจนจะส่งสัญญาณไปที่ Receptor เพื่อบอกให้เซลล์มะเร็งโตขึ้น แต่ยา Faslodex จะทำลายสัญญาณนี้ ทำเอสโตรเจนไม่สามารถส่งสัญญาณไปที่ Receptor ได้
การเลือกชนิดของยาต้านฮอร์โมน
การเลือกชนิดของยาต้านฮอร์โมนเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ช่วงอายุของผู้ป่วย
2. ระยะของมะเร็ง
3. มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันมาก่อนหรือไม่?
4. มีประวัติกระดูกเสื่อมหรือไม่?
5. มีประวัติมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งรังไข่มาก่อนหรือไม่?
6. American Society of Clinical Oncologists (ASCO) แนะนำให้ใช้ยาต้านฮอร์โมน โดยยึดหลัก 2 ข้อ คือ ระยะของมะเร็ง และผู้ป่วยอยู่ในภาวะหมดประจำเดือนแล้วหรือไม่?
ASCO แนะนำว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เป็นมะเร็งเต้านมในระยะต้น และมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ควรเลือกใช้ Aromatase Inhibitor เป็นอันดับแรก หรือกลุ่มที่เคยได้ยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen มาแล้ว 2-3 ปี ให้เปลี่ยนมาเป็น AI ต่ออีก จนครบ 5 ปี มีการศึกษาพบว่า การใช้ Tamoxifen แล้วต่อด้วยยา AI มากกว่า 5 ปี สามารถป้องกันการกลับมาของมะเร็งได้ดีกว่า ในผู้ป่วยวัยก่อนหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ASCO แนะนำให้ใช้ยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย ASCO แนะนำให้เริ่ม Tamoxifen 2-5 ปีก่อน แล้วเปลี่ยนเป็น AI หรือเมื่อมีการดื้อยา Tamoxifen ก็ให้เริ่ม AI ได้เลย แต่ถ้ามีการดื้อยา AI ก็ให้เปลี่ยนเป็น Faslodex (Fulvestrant) ต่อ ผู้ป่วย และแพทย์ควรปรึกษาและเตรียมแผนการรักษาร่วมกัน เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยต้องทานยาต้านฮอร์โมนนานเท่าไร?
ยาต้านฮอร์โมนทุกชนิด เช่น Saltamox (ชื่อทางเคมี: Tamoxifen) เป็นยาชนิดเม็ด ยกเว้น Faslodex (ชื่อทางเคมี: Fulvestrant) เป็นยาฉีด ผู้ป่วยควรทานยาให้ตรงเวลาเดิมทุกวัน วันละ 1 เม็ด สามารถกินก่อนและหลังอาหารก็ได้
Faslodex เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ให้ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง และต้องฉีดที่สถานพยาบาล
Saltamox เป็นยาชนิดน้ำสำหรับทาน
การทานยาต้านฮอร์โมนเป็นการรักษาที่ใช้ระยะเวลา 5-10 ปี เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม ผลการรักษาจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการรับประทานยาทุกวันจนครบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการท้าทายผู้ป่วยในช่วง 2-3 เดือนแรกมาก
เมื่อผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังจากผ่าตัดแล้ว บางครั้งจะลืมทานยาต้านฮอร์โมนได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น การติดตามอาการเริ่มห่างขึ้น และมียาประจำตัวโรคอื่นๆ ที่ต้องทานมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยลืมทานยาต้านฮอร์โมนได้ การทานยาต้านฮอร์โมนแบบต่อเนื่องทุกวันต้องใช้ความจำมาก เพราะผู้ป่วยหลายคนมักจะลืมทานยา ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพน้อยลง มีงานวิจัยต่างประเทศ คิดวิธีการช่วยให้ผู้ป่วยที่ชอบลืมทานยา คือผู้ป่วยต้องมีตารางแผนการรักษาที่เขียนออกมา ข้อมูลในนั้นจะมีขนาดยา รูปร่างเม็ดยา และสีของเม็ดยา การกินยาวันละกี่ครั้ง กินยาแบบไหน (เคี้ยว กลืนกับน้ำ หรือ กินพร้อมอาหาร) ให้แพทย์แนะนำหากลืมทานยา ควรทำอย่างไร การมีจดบันทึกยา เพื่อเช็คได้ว่ายาได้ทานยาไปหรือยัง ผู้ป่วยควรทานยาให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ และเชื่อมเหตุการณ์ เช่น กินยาตอนกินข้าวเช้า กินยาหลังแปรงฟัน กินยาก่อนนอนเพื่อทำให้จำได้ ควรใช้นาฬิกาปลุก เพื่อเตือนเวลาในการทานยา ถ้ามีแผนการจะไปทำธุระข้างนอกหลายวัน ให้เตรียมยาเกินกว่าวันที่จะไป ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศ ให้เอายาใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่อง เพื่อป้องกันกระเป๋าเดินทางหาย และหากต้องไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน ควรขอยาจากแพทย์ประจำให้เพียงพอกับระยะเวลที่จะไปพัก
บางครั้งผู้ป่วยมีอาการท้อแท้ เบื่อกับการทานยาเป็นระยะเวลานาน 5-10 ปี ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้มีกำลังใจในการทานต่อไปได้ ให้ผู้ป่วยคิดว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคหอบ ที่ต้องทานยาทุกวันเพื่อควบคุมตัวโรค ผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อควบคุมน้ำตาลได้ดีจะรู้สึกมีกำลังใจ และกลายเป็นคนสุขภาพดี ให้คิดเช่นเดียวกับการทานยาต้านฮอร์โมน ทานเพื่อให้เราสุขภาพดีขึ้น หากไม่แน่ใจว่ายาต้านฮอร์โมน ทานเพื่ออะไร ให้ถามแพทย์ผู้รักษาเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร ท้อแท้ หรืออ่อนเพลีย ให้เล่าความรู้สึกกับแพทย์ที่รักษาประจำ หรือทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมดูแลเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้ป่วยควรเข้ากลุ่มมะเร็งเต้านม เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือปรึกษาปัญหาที่พบ ทำให้มีกำลังใจที่ทานยาจนครบระยะเวลาที่กำหนด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากการทานยาต้านฮอร์โมน
- อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อแตกตอนกลางคืน ปวดตามข้อกระดูก
- มีอาการแน่นหน้าอก กระดูกเสื่อม และลามเลือดอุดตัน แต่พบไม่บ่อย
อย่าให้ผลข้างเคียงของยาทำให้ผู้ป่วยหยุดยาต้านฮอร์โมนเอง ควรไปพบแพทย์พูดคุยเรื่องผลข้างเคียง หรือเปลี่ยนยากลุ่มอื่นแทน
Ovarian Shutdown or Removal
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังมีประจำเดือนอยู่ เอสโตรเจนจะถูกสร้างมาจากรังไข่ เมื่อมี Estrogen Receptor มากขึ้น เซลล์มะเร็งก็จะโตมากขึ้น การลดจำนวนเอสโตรเจนในร่างกาย หรือยับยั้งการทำงานของเอสโตรเจน จะช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น ในผู้ป่วยบางราย การตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างจะช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยเรียกวิธีการนี้ว่า Prophylactic หรือProtective Ovary Removal หรือ Prophylactic Oophorectomy เป็นการผ่าตัดเพื่อลดจำนวนเอสโตรเจนในร่างกายแบบถาวร ส่วนการใช้ยาฉีดเพื่อกดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นแบบชั่วคราวมีชื่อเรียกว่า Medical Shutdown
การผ่าตัดรังไข่ออก 2 ข้าง (Protective Ovary Removal)
ในปี 2008 มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดรังไข่ออก 2 ข้าง และการทานยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen 5 ปี หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม พบว่าสามารถอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้ และอัตราการตายน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยในวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ไม่ได้ตัดรังไข่ออก 2 ข้าง แต่ทานยา Tamoxifen 5 ปี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างเชิงรุก เพราะผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนวัยอันควร จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมสูง และผู้ป่วยที่มีบุตรเพียงพอแล้ว
จากที่กล่าวมาแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนสร้างจากรังไข่เป็นส่วนมาก แต่มีบางส่วนที่สร้างมาจากเซลล์ไขมันในร่างกายผ่านทางการกระตุ้นจากต่อมหมวกไต จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยที่ตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างแล้ว จึงยังจำเป็นต้องกินยา Tamoxifen ต่อ จากการศึกษาและงานวิจัยหลายที่ พบว่าการผ่าตัดรังไข่ออก 2 ข้าง ช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งร่วมไปถึงกลุ่มที่มี BRCA 1 และ BRCA2 ผู้ป่วยเหล่านี้พบว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ หรือเกิดทั้ง2 โรค พร้อมกันมากกว่าคนปกติทั่วไป
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง สามารถลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ 50% ซึ่งสามารถลดอัตราการสร้างเอสโตรเจนได้ดี ในปีค.ศ. 2008 มีการศึกษาพบว่า การผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างในผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA2 สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้จริง
ยาเพื่อกดการผลิตของฮอร์โมนเอสโตรเจนชั่วคราว ในท้องตลาดมี 2 ชนิด ได้แก่
- Zoladex (ชื่อมางเคมี: Goserelin)
- Leupron (ชื่อมางเคมี: Leuprolide)
Zoladex และ Leupron เป็น Luteinizing Hormone-Releasing Hormone (LHRH) Agonist เป็นยาที่กระตุ้นต่อมใต้สมองให้หยุดการสร้างฮอร์โมน ทำให้เอสโตรเจนในร่างกายลดลง ยาชนิดนี้เป็นยาฉีด ซึ่งต้องฉีดทุกเดือน หรือทุก 3 เดือน เมื่อหยุดฉีดยารังไข่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งระยะเวลาที่รังไข่จะกลับมาทำงานนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรในอนาคต แนะนำให้ใช้ยาฉีดเพื่อควบคุมการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมากว่าตัดรังไข่
มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ฉีดยาลดฮอร์โมนเอสโตรเจนไปแล้ว มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธี สวมถุงยางอนามัยทั้งแบบผู้ชายหรือผู้หญิง หรือใส่ห่วงที่ไม่มีฮอร์โมนทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรือการฉีดยากดการสร้างฮอร์โมน ผู้ป่วยควรตัดสินใจให้รอบคอบและปรึกษาแพทย์ในการวางแผนการมีบุตรในอนาคต เพื่อจะได้รักษาไปในแนวทางเดียวกัน และเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย