กล่องปทุมรักษา: เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยชนิดของโรคมะเร็ง โดยคุณหมอคนไทย เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
ท่านทราบหรือไม่ว่า โรคมะเร็งเต้านมนั้น มีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิด มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน หากมีการผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนวินิจฉัย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากในการรักษาชีวิตของคนคนหนี่ง ให้ปราศจากโรค...
วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณหมอผู้ที่ทำกล่องบรรจุชิ้นเนื้อแล้วเดินสายชักชวนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยชนิดมะเร็ง จนนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้อง รองศาราจารย์แพทย์หญิงสุพินดา คูณมี ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการเล็ก ๆ แต่ ยิ่งใหญ่ของภาคอีสาน เจ้าของรางวัล สุดยอดนวัตกรรมด้านสังคม จากงานสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards 2020 ซึ่งจัดโดยโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ
“จุดเริ่มต้นของความคิดมาจากสมัยตอนที่พี่ได้มีโอกาสไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ช่วงปี 2544 ในงานปาร์ตี้ต่าง ๆ พอคนร่วมงานรู้ว่าพี่เป็นหมอคนก็อยากเข้ามาคุยด้วย แต่ที่แปลกใจเลยคือพบว่า ผู้หญิงกว่า 4 ใน 10 คน บอกกับพี่ว่าเป็นมะเร็งเต้านม ทุกคนใช้ชีวิตแบบปกติไม่รู้สึกแตกต่างจากคนทั่วไปและไม่เขินอายที่จะพูดว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะที่บ้านเราผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมจะหายหน้าไปจากสังคม และรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนหลังจากผ่าตัดเต้านม สามีก็ไม่กลับบ้านอีกเลย หรือบางคนก็ปฏิเสธการรักษา ซึ่งมักจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี พี่ก็เลยคิดว่าทำไม 2 ซีกโลกผู้ป่วยเป็นโรคเดียวกันและยารักษาก็เหมือนกัน เป็นยาเดียวกับฝรั่งด้วยซ้ำ แต่ทำไมผลการรักษาถึงไม่เหมือนกัน” คุณหมอเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายให้เกิดโครงการกล่องปทุมรักษาขึ้น
จากการศึกษาดูข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้คุณหมอพบว่า โรคมะเร็งเต้านมนั้น ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economic) มีผลต่ออัตราการตายที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า “เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันพัฒนายังไงก็ได้ให้มะเร็งเต้านมบ้านเรามีผลการรักษาดีขึ้น”
ย้อนกลับไปช่วงประมาณปี 2546 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีการย้อม Biomarker (การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อให้ทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด) ซึ่งเป็นช่วงที่คุณหมอกลับประเทศไทยพอดี จึงได้เริ่มจัดตั้งระบบ เรื่องการย้อม ER, PR, HER2 (ตัวระบุโรคมะเร็งเต้านมชนิดต่าง ๆ ) ที่ขอนแก่น
“ขณะทำงานก็นั่งดูสไลด์ไป ซึ่งก็พบว่าเนื้อไม่ fix หรือเน่าสลายไป ย้อมอะไรไปก็ไม่ติดสีเลย ดังนั้นแพทย์จึงอ่านผลเป็นลบ กลายเป็น Triple Negative ที่สูงมาก ส่วน ER, PR ตรวจเจอไม่ถึง 50% ทั้ง ๆ ที่จากข้อมูลส่วนใหญ่จะเจอประมาณ 70% ทำให้ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อในผลพยาธิวิทยา เพราะขัดแย้งกับการประเมินอาการของผู้ป่วย ทำให้ต้องมีการส่งตรวจในแล็บอื่น ๆ เพื่อเป็นการยืนยัน จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงประเมินได้ว่าปัญหาหลัก ๆ เกิดจากการที่ชิ้นเนื้อไม่ fix กับชุดตรวจ” คุณหมอเล่าถึงต้นตอของปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากวินิจฉัยผิดประเภท จะส่งผลทำให้เกิดการรักษาที่ผิดตามมา ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยเช่นกัน
เดิมที่การส่งตรวจชิ้นเนื้อ ทำโดยนำชิ้นเนื้อมาใส่ถุงแกงแล้วใส่น้ำยาฟอร์มาลีน หรือรอให้ทีมพยาธิวิทยามารับชิ้นเนื้อที่ห้องผ่าตัดนำไปตัดและแช่น้ำยาเอง ตามคำแนะนำของต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วกำลังคนของทีมงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ หรือทำได้ในเฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีกำลังค้นมากพอเท่านั้น “ในสมัยนั้น มีโรงพยาบาลไม่กี่แห่งที่สามารถตรวจชิ้นเนื้อเองได้ จึงจำเป็นต้องขนส่งนำชิ้นเนื้อไปส่งที่ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ต้องส่งชื้นเนื้อไปย้อมที่เชียงใหม่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ดต้องส่งชิ้นเนื้อไปย้อมที่กรุงเทพฯ แล้วประกอบกับระบบขนส่งสมัยก่อน มีการจัดส่งแค่สัปดาห์ละ 2 รอบเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่ระยะเวลาที่ชิ้นเนื้อถูกแช่อยู่ในน้ำยาเกิน 72 ขั่วโมง ซึ่งนานเกินไป จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมค่า Triple Negative จึงพบสูงมาก” คุณหมอสุพินดาอธิบายให้เราเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าทำไมแต่เดิมการวินิจฉัยถึงยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร
กล่องปทุมรักษาถูกเริ่มต้นขึ้นโดยคุณหมอสุพินดา และคุณหมอวัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ อดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย มีโรงพยาบาลร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลกาฬสินธุ์เป็นโรงพยาบาลนำร่อง ส่งชิ้นเนื้อเต้านมมาตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เริ่มการออกแบบกล่องบรรจุชิ้นเนื้อ โดยโจทย์มีอยู่ว่าทำอย่างไรจะทำให้น้ำยาสามารถเข้าสู่เนื้อเยื่อที่แช่ได้เป็นอย่างดี “ในตอนเริ่มต้นพี่ทำกล่องต้นแบบอยากได้กล่องที่มีขนาดใหญ่ แต่เมื่อมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการลองผิดลองถูก จึงมีการปรับเปลี่ยนขนาดให้เหมาะสม จึงได้เป็นขนาดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนการออกแบบด้านใน เราออกแบบช่องว่างให้มีการล็อกชิ้นเนื้อ และมีแผ่นกั้นเพื่อให้น้ำยาฟอร์มาลน สามารถอาบชิ้นเนื้อทุกชิ้นได้มากที่สุด จากนวัตกรรมนี้ เราวัดผลลัพธ์ความสำเร็จจากค่า Triple Negative ที่ลดลงจาก 25% เหลือ 20% แล้วค่า ER จากประมาณ 50% เพิ่มขึ้นไปเป็น 65% นี่เป็นโครงการนำร่องแรกที่สามารถยืนยันได้ว่าเราสามารถพัฒนาและปรับปรุงในส่วนนี้ได้” ค่าดังกล่าวทำให้ทราบว่าวินิจฉัยได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ในปี 2559 คุณหมอสุพินดาได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานที่ประเทศมาเลเซียในงาน SPHERE ซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างมากจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จนได้เป็น Best Practice และได้รับคำแนะนำว่าผลงงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งชิ้นนี้ สามารถทำให้ได้เป็นวงกว้างมากกว่านี้อีกหรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ได้รับจากการนำเสนอผลงานครั้งนั้น นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในงานยังตั้งชื่อโปรเจคนี้ด้วยว่า MDT (Multidisciplinary Team) in a Box “สิ่งที่ทำให้คณะกรรมการในงานทึ่งที่สุดคือ ทำไมโปรเจค กล่องปทุมรักษาถึงได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายภาคส่วน ทึ่งจนถึงขนาดที่ว่า หลังจากจบการประชุมมีการส่งทีมงานจากต่างประเทศมาดูงานที่ขอนแก่น เพื่อมาดูว่าเราทำยังไงถึงได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนขนาดนี้ ซึ่งจุดกำเนิดความร่วมมือนี้ต้องขอบคุณท่านอาจารย์วัชรพงษ์ ที่คอยประสานความร่วมมือกับกลุ่มศัลยแพทย์ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการส่งตรวจชิ้นเนื้อ รวมถึงบริษัท โรช (Roche) ที่เป็นเสมือนพาร์ทเนอร์มาตั้งแต่ต้น” คุณหมอสุพินดาเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มของความภาคภูมิใจ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลในวงกว้างมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลร้อยเอ็ด แม้ว่าไม่มีแล็บพยาธิวิทยาสำหรับตรวจ HER2 แต่สามารถจัดทำ HER2 fast tract ได้ อีกที่คือโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ มีช่องข่าวต่าง ๆ ทำข่าวถึงความสำเร็จของการพัฒนาการส่งตรวจดังกล่าว
เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ประทับใจสำหรับโครงการนี้ ในฐานะผู้บุกเบิก คุณหมอได้เล่าให้เราฟังในหลากหลายมิติ อาทิเช่น การขยาย โครงการกล่องปทุมรักษาให้เข้าถึงในวงกว้าง ที่ได้ไปเข้าร่วมกับโครงการไทยแลนด์ 4.0 ทำให้สามารถนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเช่น Internet of Things (IoT) เข้ามาช่วยติดตามระยะเวลาการส่งตรวจชิ้นเนื้อและเตือนให้ทุกฝ่ายทราบความคืบหน้า รวมทั้งเตือนห้องแล็บให้เตรียมพร้อมรับชิ้นเนื้อแต่ละชิ้น นอกจากนี้ยังประทับใจความร่วมมือของการระดมเงินทุนที่ใช้ในการพัฒนา ซึ่งในช่วงแรกได้รับการปฏิเสธการให้ทุนจากหน่วยงาน แต่สุดท้ายก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมยังช่วยระดมทุนสนับสนุนจากบริษัทและภาคส่วนต่าง ๆ และได้รับทุนพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมทั้งผู้มีอุปการะคุณ จากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพู ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จนทำให้ทีมงานได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ในโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง
“สิ่งประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือจากการที่ Thai PBS ได้นำเสนอข่าวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยจริงที่ได้รับการวินิจฉัยจากนวัตกรรมกล่องปทุมรักษา จนนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี 2556 จนวันที่ได้เห็นผู้ป่วยออกทีวี นับว่าเป็นปีที่ 5 จากการที่ได้เห็นภาพผู้ป่วยคนหนึ่งในทุ่งนาได้มีชีวิตที่มีความสุข ภาพนั้นมันทำให้น้ำตาไหล นึกถึงทุก ๆ ภาคส่วน นึกถึงเพื่อนทุกคนที่ร่วมกันคิดและสร้างโปรเจคนี้มา... เราสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้จริงๆ แล้วผลลัพธ์ของ 5 Year Survival Rate ของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ของค่าเฉลี่ยประเทศไทย” คุณหมอสุพินดาเล่าพร้อมรอยยิ้มของความปลื้มปิติ
จะเห็นได้ว่านวัตกรรม ที่สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขในบ้านเราให้ดีขึ้นนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเกิดจากเทคโนโลยีที่มีราคาแพงหรือยากต่อการเข้าถึง หากแต่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยนั้นเกิดจากความมุ่งมั่นของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งและความร่วมมือร่วมใจที่อยากจะเห็นผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีและแม่นยำยิ่งขึ้น
ก่อนจากคุณหมอสุพินดายังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผู้หญิงหนึ่งคนป่วย มันไม่ใช่แค่คนคนเดียวนะ ลองคิดภาพจริง ๆ ในสังคม
ผู้หญิงหนึ่งคนในบ้านต้องทำอะไรบ้าง หาข้าว หาน้ำ ดูแลลูก ดูแลสามี ดูแลผู้สูงอายุ แล้วพอผู้หญิงป่วย คือเท่ากับอีกหลาย ๆ ชีวิตที่ต้องพังไปด้วย แล้วจะอยู่ยังไงกัน ที่คือสภาพจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม”
สภาพเซลล์ก่อนและหลังการใช้กล่องปทุมรักษา สภาพเซลล์เสื่อมสลาย (ภาพบน) สภาพเซลล์มะเร็งที่สมบูรณ์ (ภาพล่าง)
ผู้บริหารโรงพยาบาลร้อยเอ็ด รับมอบกล่องปทุมรักษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556
เข้าร่วมโครงการ Thailand Spring Up ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทยก้าวสู่ตลาดโลก เมื่อ 5 เมษายน 2559
รวมภาพโรงพยาบาลที่ใช้งานกลองปทุมรักษา
ชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพู บริจาคกล่องปทุมรักษาให้กับโรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลชุมแพ
รางวัลชนะเลิศ สุดยอดนวัตกรรม 7 INNOVATION AWARDS 2020 ด้านสังคม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563
ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร
ได้รับเชิญไปร่วมแสดงนวัตกรรม ในงาน the 58th Annual (spring) Meeting of the Japanese Society of Clinical Cytology (JSCC): MAY 26-28, 2017
at the Osaka International Convention Center, Osaka, Japan