วันนี้เรามาที่กองศัลยกรรม ชั้น 7 โรงพยาบาลพระมงกุฎเพื่อพูดคุยกับ พลโท รศ. นพ.วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย คนล่าสุด ถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยและเรื่องราวเกี่ยวกับโรคเต้านม ทำให้ทราบถึงข้อมูลดีๆ ที่เราอยากจะมาแบ่งปันกับทุกคน
“ราวเกือบ 15 ปี เรามีชมรมศัลยแพทย์มะเร็ง ที่มีการเปิดอบรมแพทย์ทางศัลยกรรมทั่วไปที่ต้องการต่อยอดเป็นศัลยแพทย์มะเร็ง คือ ปกติเมื่อจบแพทย์แล้วก็จะเรียนเฉพาะทางอย่างศัลยกรรมทั่วไปอีก 4 ปี และจากนั้นก็ลงลึกมาทางผ่าตัดเกี่ยวกับมะเร็งอีก 2 ปี” อาจารย์วิชัยปูภาพให้เราเห็นเบื้องต้น
“ตอนนั้นสมาชิกของชมรมฯ จะเป็นอาจารย์และแพทย์ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด และสมาชิกโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพทย์ผ่าตัดเกี่ยวกับโรคเต้านมเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับการผ่าตัดโรคเต้านมต้องทำงานร่วมกับแพทย์อีกหลายฝ่าย เช่น อายุรแพทย์ ที่เป็นผู้ให้ยาในการรักษามะเร็ง เช่น ยาเคมีต่างๆ รังสีแพทย์ที่ทำหน้าที่ฉายรังสี และวินิจฉัยโรคเต้านม เช่น เมมโมแกรม อัลตราซาวน์ และยังมีอาจารย์ทางพยาธิวิทยาที่จะวิเคราะห์ชิ้นเนื้อของมะเร็งเต้านม รวมถึงหน่วยสนับสนุนอื่นๆ จะเห็นว่าโรคมะเร็งเต้านมมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยองค์รวม ทางชมรมจึงจัดตั้งเป็นสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร และสนับสนุนงานวิจัยที่พัฒนาการรักษาดูแลโรคมะเร็งเต้านม”
และจากวัตถุประสงค์นี้เอง ทำให้เกิดการจัดประชุมทางวิชาการทุกปี เพื่ออัพเดตองค์ความรู้แก่สมาชิก รวมถึงประชุมย่อยตามที่สมาชิกร้องขอในรูปแบบ Inter-hospital Conference โดยอาจารย์เสริมว่า
“การประชุมในปีแรกๆ จะมีสองส่วน ส่วนแรกคือการให้ความรู้แก่แพทย์เกี่ยวกับโรคเต้านมเป็นหลัก ครอบคลุมถึงการผ่าตัด การให้ยาเคมี ยาฮอร์โมน การฉายรังสี รังสิวินิจฉัย และการวิเคราะห์ชิ้นเนื้อหรือแพทย์พยาธินั่นเอง ซึ่งเป็นเวทีแรกๆ ที่มีการให้องค์ความรู้ทางด้านนี้ (การวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ) แก่สมาชิกด้วย เดิมทีเวลามีการประชุมเรื่องเกี่ยวกับโรคเต้านมก็มักจะเน้นไปทางด้านการศัลยกรรมอย่างเดียว พอเรารวบรวมองค์ความรู้ในหลายๆ ด้าน ก็เกิดเป็น Multidisciplinary Team หรือแพทย์สหสาขานั่นเอง และส่วนที่สองที่คู่ขนานกับส่วนแรกก็คือ ส่วนของภาคประชาชนที่เราจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนด้วย และหลังๆ ก็มีการร่วมกับชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย หรือ TBCC ในการจัดงานให้ความรู้แก่ประชาชน และหลังๆ ก็มีจัดบรรยายให้ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของแต่ละโรงพยาบาลที่ร้องขอมาด้วยเหมือนกัน“
และมากกว่าการจัดประชุมทางวิชาการหรือการให้ความรู้แก่ประชาชนแล้วนั้น ทางชมรมได้เปิดหลักสูตรศัลยแพทย์เต้านมขึ้นมาด้วย เดิมทีเป็นหลักสูตร 1 ปี และขยายเป็น 2 ปี โดยอาจารย์เล่าว่า
“เดิมทีเรามีจัดทำหลักสูตรร่วมกับชมรมศัลยแพทย์มะเร็ง ต่อมาเราก็ก่อตั้งหลักสูตรศัลยแพทย์เต้านมขึ้นเป็นหลักสูตรเฉพาะ ซึ่งแต่ก่อนการรักษามะเร็งเต้านม บางคนเข้าใจว่าจะเป็นการผ่าตัดชิ้นเนื้อออกไปอย่างเดียว ระยะหลังมีการผ่าตัดแบบ Oncoplastic Breast Surgery คือเป็นการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก ขณะเดียวกันก็มีการเสริมตกแต่งให้ดูปกติเหมือนเดิม ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาไม่รู้สึกผิดปกติอย่างไรกับแผลที่ผ่า เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจสำหรับผู้เข้ารับการรักษาด้วย“
เรานั่งฟังอาจารย์เล่าแล้วเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และเห็นบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุของสมาคมฯ เห็นความตั้งใจจริงของผู้บุกเบิกและสมาชิกที่สืบต่อเจตนาหรือเป้าประสงค์ของสมาคมอย่างต่อเนื่อง จึงได้สอบถามเพิ่มเติมว่า “นั่นคือพันธกิจเลยหรือไม่?”
“ก็ใช่ เราเริ่มต้นจากการให้ความรู้แก่แพทย์ซึ่งเดิมทีก็ดีอยู่แล้ว แต่เป็นการพัฒนาให้ดียิ่งขี้นอีกเพื่อคุณภาพการรักษาของตัวผู้ป่วยเองซึ่งหมายถึง “อัตราการเสียชิวิตที่ลดลง” แต่อีกพันธกิจหนึ่งที่เรามีคือ “การส่งเสริมงานวิจัย” เช่น ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยชิ้นเนื้อของพยาธิแพทย์ด้วย ซึ่งปกติในส่วนนี้พยาธิแพทย์จะไม่ค่อยได้รับทุนงานวิจัยสักเท่าไร รวมถึงส่งเสริมแพทย์ที่ต้องการศึกษาต่อ หรือติดต่อที่เรียนให้ ดูงาน ศึกษางานให้กับแพทย์ที่ต้องการด้วย”
ในส่วนโครงสร้างการดำเนินงานของสมาคม อาจารย์เล่าให้ฟังว่า
“เดิมทีเราไม่มีที่ตั้งที่ชัดเจน อาศัยการประชุมโดยอิงตามสถานที่ทำงานของแพทย์ด้วยกันเอง จนตอนหลังเรามีสถานที่ทำงานอยู่ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีเลขาสมาคมประจำอยู่ที่นั่น และมีการประชุมกันทุกเดือนๆ ละครั้ง มีการคัดเลือกกรรมการทุกสองปี และคณะกรรมการก็คัดเลือกนายกสมาคมสมาคม โดยนายกฯ ดำรงตำแหน่งวาระ 2 ปี และดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระ”
เมื่อมีพันธกิจแล้ว เราอยากรู้ถึงเป้าหมายที่อยากเห็นและเป็นไปเหมือนกัน
“เป้าหมายแรกคือ เราอยากเห็นพัฒนาการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเต้านมทุกชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นมะเร็งที่เป็นมากสุดในผู้หญิง ซึ่งในปัจจุบัน จำนวนแพทย์เฉพาะทางในด้านนี้ยังไม่เพียงพอ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือด้วย ทุกวันนี้มีการผ่าตัดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เราอยากพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงของเราด้อยนะ ของเราในส่วนกลางไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นเลย แต่อยากเห็นในส่วนของต่างจังหวัดมากกว่า ที่ยังขาดแคลนทรัพยากรหลายๆ อย่าง อยากให้มีการสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถของศัลยแพทย์ทั่วไป ให้สามารถดูแลโรคของเต้านมได้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดคอร์สสั้นๆ ที่แพทย์ต่างจังหวัดสามารถเข้ามารับการอบรมเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือการดูงานในสถานพยาบาลที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ “
“อีกเรื่องนึงที่เราพยายามทำอยู่คือ เราอยากจะช่วยลดความลำบากของคนไข้ในเรื่องของการฉายแสง เนื่องจากจำนวนเครื่องฉายแสงในบ้านเรายังมีไม่เพียงพอ ชาวบ้านต่างจังหวัดยังต้องลำบากกับการเดินทางไปฉายแสงไกลๆ และด้วยขั้นตอนการตรวจรักษาทำให้คนไข้ต้องเดินทางไปๆ มาๆ หลายรอบ ซึ่งตอนนี้ก็มีบางโรงพยาบาลเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบออนไลน์ขึ้นมาเพื่อลดระยะทางและเวลาไปกลับ โดยคนไข้อาจมาโรงพยาบาลแล้วฉายแสงเลยก็ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สมาคมกำลังเรียนรู้ร่วมกันกับทางโรงพยาบาลที่เป็นผู้ริเริ่มอยู่ ถ้าทำได้ในอนาคตก็อยากเห็นระบบที่ว่านี้ใช้ในหลายๆ โรงพยาบาล”
“ในภาพรวม เราอยากเห็นสมาคมให้ความรู้แก่สมาชิก พัฒนาคุณภาพการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ภายใน 10 ปี โดยเรามีเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ทำการรักษาเพื่อให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยวางแผนร่วมกันกับแพทย์ทุกสาขา ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”
อาจารย์เว้นช่วงสักพักก่อนที่จะเพิ่มเติมถึงความฝันของอาจารย์เองที่อิงกับเป้าหมายของสมาคม
“ผมจะใช้คำอย่างไรดีนะ คือ ผมอยากเห็นไทยเป็นอันดับหนึ่งใน South East Asia ในด้านการรักษาโรคเต้านม พูดอย่างนี้เดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดว่าแพทย์เราไม่เก่ง แพทย์เราเก่งมาก ต่างประเทศมารักษากับเรากันเยอะ แต่ผมหมายถึงโดยระบบและคุณภาพการรักษา เช่น ในต่างจังหวัด การตรวจชิ้นเนื้อกว่าจะทราบผลอาจจะใช้เวลา 1 เดือน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพอาจใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ และถ้าเป็นเอกชนอาจจะรู้ผลภายใน 2 วัน เราก็อยากเห็นว่า คนไข้ได้รับการรักษาหลังจากตรวจชิ้นเนื้อในเวลาที่เร็วขึ้น นั่นหมายถึงความเสี่ยงของคนไข้ก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งอาจทำได้โดยการลดข้อจำกัดของการรักษา หรือเพิ่มศักยภาพของระบบการรักษา”
“เป็นความฝันส่วนตัวผมเลยนะ ไม่ได้เขียนลงในวัตถุประสงค์ข้อใดๆ” อาจารย์ยิ้มกับเรา และบอกว่าที่ไม่ใช่ความฝันแต่เป็นความจริงไปแล้วก็คือ…
“อย่างต่างจังหวัดบางที่ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องผ่าตัดเลาะน้ำเหลืองออกไปจำนวนมาก แต่พอเราแนะนำเรื่องการฉีดสี เพื่อให้เกิดการผ่าเลาะน้ำเหลืองเฉพาะจุด ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมอยากเห็นผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกันเหมือนกับส่วนกลาง แต่หลังๆ ก็มีการผลักดันการฉีดสีนี้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นสัญญาณที่ดี”
จากการทำงานของสมาคมที่ก่อตั้งมาร่วม 20 ปี เราอดถามอาจารย์ไม่ได้ถึงความภูมิใจที่มีต่อผลงานของสมาคม
“มันก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่สิ่งที่เราเห็นชัดเลยคือ การให้ความรู้แก่สมาชิกและการฝึกอบรมทำให้เราผลิตแพทย์ที่ชำนาญทางนี้ออกมาได้พอสมควรเลยทีเดียว รวมถึงงานวิจัยที่ทำให้สามารถดูแลชิ้นเนื้อของเต้านมได้ดีขึ้นด้วย”
เราสนทนากับอาจารย์ในฐานะคนนอกที่เข้าใจว่าการรักษาโรคเต้านมจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งหรือศัลยแพทย์เท่านั้นที่เป็นเจ้าภาพในการรักษาแต่เพียงผู้เดียว แต่ในความเป็นจริงยังมีแพทย์อีกหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้เรายังเห็นเป้าหมายของการรักษาที่อาจารย์มองไปถึงผู้ป่วยที่อยู่ไกลจากสถานพยาบาล ความทันท่วงทีในการวิเคราะห์โรค และการมีส่วนพัฒนาการรักษาดูแลผู้ป่วยด้วย และได้ทราบถึงขอบข่ายงานของสมาคมฯ
สุดท้ายอาจารย์ฝากทิ้งท้ายกับเราว่า
“ถ้าพูดถึงโรคเต้านม โดยหลักก็จะเป็นมะเร็งเต้านม เดิมทีสำหรับผู้หญิงไทยเราป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังๆ อับดับหนึ่งกลายมาเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งอาจเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น เราจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้คนตระหนักถึงโรคนี้ให้มากขึ้น อยากให้เวลาที่คนไทยต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคเต้านมแล้วคิดถึงเรา เหมือนอยากรู้ข้อมูลรถติดแล้วนึกถึงจส.100 อยากให้มาหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคม เพราะในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับโรคเต้านมที่มีอยู่ในโลกโซเซียลนั้นมีความผิดพลาดอยู่มาก เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจเมมโมแกรมที่คลาดเคลื่อน ก็มีสื่อมาสอบถามเราเพื่อไปเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือการที่คนไทยหลายคนไปรักษามะเร็งที่ต่างประเทศโดยวิธีฝังแร่ ซึ่งตรงนี้ก็อันตรายมาก เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนนึกถึงโรคเต้านมแล้วเขามาดูข้อมูลของเรา สอบถามเรา เพื่อให้เขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ และไม่หลงทางครับ”
การได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ นอกจากได้เห็นความเมตตาของอาจารย์และเจตนาที่ดีของสมาคมที่มีต่อผู้ป่วยและการรักษาแล้ว เรายังได้ทราบว่าเป้าหมายของสมาคมฯ นั้น ไม่ได้มุ่งเน้นแค่แพทย์หรือผู้ป่วยฯ แต่ยังครอบคลุมถึงบุคคลแวดล้อมที่ต้องเกี่ยวข้องกับโรคเต้านม อาทิ ญาติของผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องการหาข้อมูลในเชิงป้องกันหรือเพื่อสอบอาการของตนเอง และเรายังได้เห็นถึงเจตนาของอาจารย์และสมาคมฯ ที่อยากให้ทุกคนได้มีสัมมาทิฐิในการป้องกันและการรักษาโรคเต้านม อันเป็นสิ่งจำเป็นในยุคสมัยที่มีปริมาณข้อมูลมากกว่าคุณภาพ และการมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการรักษาอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ หากผู้รับการรักษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีภูมิคุ้มกันทางข้อมูลที่ดีพอ