จาก “เป็นเท่ากับตาย” สู่ “ฟื้นฟูชีวิตใหม่”
วันนี้เรามีนัดกับ รศ. มณฑา ลิ้มทองกุล ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี แม้ในวันนี้ อาจารย์มณฑาจะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่ยังทำหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาพยาบาล อีกทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำ “ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่” มากว่า 30 ปี โดยอาจารย์เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง ที่ปรึกษา และฝ่ายประสานงานของชมรม อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์ยังดูแลชมรมมาจนถึงทุกวันนี้?
“สิ่งแรกที่เรานึกถึงเลยก็คือ เราจะช่วยผู้ป่วยอย่างไร?” อาจารย์มณฑาเกริ่นย้อนหลังเหตุการณ์
“ตอนนั้นทำงานอยู่ที่ รพ. รามา เราเห็นผู้ป่วยมาตรวจอยู่ห้องเบอร์ 1 พอตรวจเสร็จ ก็ต้องไปรอพบหมอที่ห้องเบอร์ 4 เพื่อนัด ผ่าตัด เชื่อมั๊ยพอหมอห้องเบอร์ 4 เรียก ผู้ป่วยหนีกลับบ้านกันส่วนใหญ่ เพราะกลัว เมื่อ 30 ปีที่แล้ว การรับรู้ของผู้ป่วยคือ ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมก็เท่ากับตาย ผู้ป่วยรับไม่ได้ จนหนีกลับบ้านไม่รับการรักษาหลายคน วันหนึ่ง ระหว่างที่ผู้ป่วยมารอพบแพทย์ เราก็เข้าไปถามว่า ถ้าสมมติเรามีกลุ่มให้ผู้ป่วยพูดคุยกันเองสนใจไหม? เขาก็สนใจ เพราะจะทำให้เขาได้พูดคุยกัน ประกอบกับการที่เราบอกว่าจะมีพยาบาลอยู่ด้วย เพื่อช่วยรับฟังว่าที่พูดคุยกันมันถูกหรือผิด ตรงนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดี และอยากเข้าร่วม”
นั่นคือจุดกำเนิดของ “ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่” ที่มีสมาชิกชมรมในตอนตั้งต้นอยู่ 5 คน โดยทุกคนเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกันหมด กลุ่มเริ่มพูดคุยกันตั้งแต่เก้าโมงถึงสิบโมงกว่าๆ โดยมีการประสานให้เจ้าหน้าที่และแพทย์รับทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระหว่างที่ผู้ป่วยคุยกัน จะไม่พลาดการเรียกตรวจจากแพทย์ เพราะตอนแรกๆ สมาชิกหลายคนไม่อยากเข้าร่วม กลัวจะไม่ทันหมอเรียก ซึ่งเวลานั้น สมาชิกแต่ละคนมีทัศนคติต่อโรค ต่อการรักษา และต้องได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งการทำกลุ่มก็จะช่วยปรับจูนและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง
“เวลานั้น ผู้ป่วยเข้าใจว่า ‘เป็นมะเร็งเท่ากับตาย’ ทำให้บางคนไม่กล้าเข้ารับการฉายแสง หรือกลัวเครื่องฉายแสงหล่นทับก็มี คำว่า ‘มะเร็ง’ เป็นคำที่ห้ามพูดออกมาในเวลานั้น เพราะผู้ป่วยรับไม่ได้ สมาชิกที่เข้าร่วม เราก็ต้องให้เขาเต็มใจด้วย ไม่บังคับ เพราะบางคนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโรค พอเข้ากลุ่มก็มักจะมีข้อโต้แย้งต่างๆ ในเชิงลบที่พลอยฉุดให้คนอื่นที่รู้สึกแย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก พาลทำให้กลุ่มล่มได้ ตรงนี้เราก็ต้องคัดกรองสมาชิกด้วยเหมือนกัน”
ขึ้นต้นด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย แต่ใช่ว่าจะได้รับความสะดวกราบรื่นจากผู้ป่วยกลับมา เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว
“ตั้งแต่ตั้งกลุ่มมาเราก็จะพัฒนาผู้ป่วยไปด้วย เช่น บางทีผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับการรักษาที่ไม่ดี มีข้อสงสัย เราก็จะสอนผู้ป่วยว่าจะต้องถามคำถามจากแพทย์และพยาบาลอย่างไรในการตรวจครั้งต่อไป คือ นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษาแล้ว เรายังต้องแนะนำเรื่องการสื่อสารด้วย” ไม่เพียงแต่เฉพาะการสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้างด้วย
“เคยมีคุณป้าท่านหนึ่ง ป่วยอยู่ คุณลุงที่เป็นสามีก็ดูแลเป็นอย่างดี แต่ด้วยความเครียดจากการเป็นโรคทำให้หงุดหงิดใส่คุณลุง คุณลุงทำอะไรก็ไม่ถูกใจ สุดท้ายคุณลุงจบชีวิตตัวเอง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เราเอามาสอนผู้ป่วย ว่าต้องมีความรู้ในการดูแลคนที่ดูแลเราด้วย ต้องรู้จักสื่อสารกับคนรอบข้างด้วย”
นอกจากให้ “ความรู้” เพื่อดูแลกายแล้วยังให้ “ความรู้สึก” เพื่อดูแลใจด้วย
“อีกเคสหนึ่ง คุณป้ามารักษากับเรา กลับบ้านทีไรคนแถวบ้านก็จะถามว่า ‘ไปหาหมอมา หมอบอกว่าจะตายเมื่อไร ถ้าตายแล้วจะได้เอา (สามีป้า) มาทำผัว’ เราตกใจว่า มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นด้วยหรือ” อาจารย์เล่าให้เราฟังต่อ
“ป้าเขามาเข้ากลุ่มทีไรก็ร้องไห้ทุกที ลูกที่มาด้วยก็บอกว่าแม่ถูกถามจริงและร้องไห้ไปด้วย แต่ดีที่สมาชิกในกลุ่มคอยให้กำลังใจ ทำให้ป้ามีกำลังใจ ยิ่งมาได้กำลังใจจากคนที่ลงเรือลำเดียวกันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อบอุ่นใจ บวกกับได้รู้ว่าประธานชมรมคนแรกซึ่งเป็นคุณยายที่ผ่าตัดเต้านมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 จนถึงวันที่ป้าคนนี้มาเข้าร่วมกลุ่ม (ปีพ.ศ. 2536) คุณยายก็ยังมีชีวิตอยู่ เป็นตัวอย่างจริง ที่จับต้องได้ พิสูจน์ได้ว่า เป็นมะเร็งแล้วไม่ตาย คุณป้าก็มีกำลังใจที่ดี อย่าลืมนะว่าความเครียดเป็นตัวบั่นทอนเลย ถ้าผู้ป่วยไม่เครียด โอกาสที่จะรักษาหายก็มีมากขึ้นด้วย สุดท้ายคุณป้าคนนี้ก็มีชีวิตอยู่อีกนาน จนสามีป้าจากไปก่อนป้าเสียอีก” เป็นเหมือนเรื่องหักมุม แต่เป็นเรื่องจริงที่เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผู้ป่วยรุ่นหลังๆ
ชมรมฯ มีผู้ป่วยที่ทำหน้าที่อาสาสมัครในการพูดคุยกับผู้ป่วยที่เพิ่งทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ผู้ป่วยรุ่นหลังๆ นอกจากจะได้ความรู้ที่มากกว่าผู้ป่วยรุ่นแรกแล้ว ยังได้กำลังใจจากเรื่องราวต่างๆ ที่สะสมมามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
เป็นทั้งกลุ่มแบ่งปันความรู้และเป็นกลุ่มบำบัดจิตใจไปในตัวด้วย เราสรุปอย่างนั้น
“เป็นกลุ่มที่พัฒนาศักยภาพผู้ป่วยด้วยค่ะ” อาจารย์มณฑาเสริม “เนื่องจากสมาชิกทุกคนเป็นมะเร็งกันหมด ความเห็นอกเห็นใจและการให้กำลังใจจากคนที่เป็นมะเร็งด้วยกันจึงมีความหมายมาก แต่ถ้าเขาไม่สามารถถ่ายทอดออกไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแม่บ้านท่านหนึ่งพูดไม่เก่ง ไม่กล้าพูด มาเข้ากลุ่มกับเรา พออยู่ไปสักพักก็เริ่มเก็บสะสมความรู้ และเอาไปบอกต่อกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม ทำให้เกิดความมั่นใจ กล้าพูดกล้านำเสนอ พัฒนาตนเอง จนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยเหลือเพื่อนๆ ในกลุ่มได้มากขึ้น การพัฒนาศักยภาพตรงนี้ ก็ทำให้เขามีความภูมิใจ และรู้สึกมีค่ามากขึ้น จากเดิมที่เขารู้สึกว่าเขาป่วย เขาไม่มีค่า”
จากการเริ่มต้นของกลุ่มที่เหมือนเมล็ดพืชเล็กๆ ที่อาจารย์มณฑาหยอดลงดิน รดน้ำพรวนดินฟูมฟักเติบโตจนเป็นต้น และ ต้นไม้นี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
“สมาชิกในกลุ่มบางคน พอต้องไปฉายแสง ก็ไม่กล้าไป ก็จะมีเพื่อนสมาชิกที่รับการฉายแสงมาแล้ว มาให้ความรู้ ให้กำลังใจ รวมถึงอาสาจะมาเป็นเพื่อนในวันที่ฉายแสงด้วยก็มี หรือบางคนป่วยกายแล้ว ก็อยากได้กำลังใจ มาบอกเราว่า วันเกิดปีนี้อาจารย์ (มณฑา) ทำการ์ดวันเกิดให้หน่อยได้ไหม สามีทีบ้านไม่เคยให้ของขวัญวันเกิดเลย เราคิดว่า เราทำได้เราก็ทำให้ พอมีสมาชิกคนหนึ่งรู้เรื่อง ก็แต่งกลอนให้ อีกคนมีฝีมือในการวาดรูป ก็ทำการ์ดพร้อมคำกลอนและพิมพ์ขึ้นมาให้ จนตอนหลังเราก็จะส่งการ์ดอวยพรวันเกิดให้กับสมาชิกทุกคน ล่าสุดเราอวยพรวันเกิดให้กับสมาชิกโดยส่งผ่านไปกับบันทึกการประชุมที่เราจัดส่งให้ทุกเดือน ในปีพ.ศ. 2537 สมาชิกชมรมได้เสนอให้เราจัดงานปีใหม่ร่วมกัน โดยจัดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ผู้ป่วยเป็นเจ้าของ และก็ได้จัดงานนี้เรื่อยมา เป็นกิจกรรมหนึ่งของชมรม ใครมาได้ก็มา บางคนเคยมาได้ แต่หลังๆ ไม่สะดวกมา บางทีก็ส่งลูกมาร่วมงานด้วยก็มี” เป็นเหมือนต้นไม้ที่มีวงปีโตขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น กิ่งก้านของความสัมพันธ์ก็แผ่กว้างออกไปให้ความร่มเย็นแก่กันและกัน
ต้นไม้ต้องมีราก รากแก้วที่แข็งแรงก็เปรียบเสมือนความรู้ที่หยั่งลึกลงทุกวัน
“เรามีการจัดประชุมทางวิชาการด้วย ปีละ 2 ครั้ง โดยถามเพื่อนสมาชิกว่า อยากรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้าง ซึ่งจะจัดเพิ่มจากการประชุมกลุ่มรายเดือน เดือนละครั้ง ความรู้มะเร็งเต้านมไปไกลมาก พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยต้องรู้เท่าทันด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีประชุมสัญจรปีละครั้ง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 จากไปค้าง 1 คืน ก็เป็นค้าง 2 คืน เดินทางเที่ยวต่างจังหวัด เปลี่ยนบรรยากาศจากเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาล โรงพยาบาลมาบ้าน ก็มาสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมทิวทัศน์ธรรมชาติ” เป็นการเพิ่มความรื่นรมย์ให้กับจิตใจ เสมือนออกซิเจนที่ให้ความสดชื่นแก่ต้นไม้
“สมาชิกส่วนใหญ่จะไปกัน ไม่ขัด เว้นแต่ไปไม่ไหวจริงๆ ก็เหมือนงานปีใหม่นะ บางคนมาไม่ได้ ก็ส่งลูกๆ มาร่วม มาเป็นตัวแทน มาช่วยเทคแคร์ มันเหมือนญาติกันไปแล้ว” เราอดไม่ได้ที่จะบอกว่า “เป็นกลุ่มที่อบอุ่นดีทีเดียว ถึงขั้นมีเพลงประจำชมรมด้วย”
มีเรื่องราวดีๆ ที่ชื่นใจเกิดขึ้นที่ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่เสมอๆ อาจารย์มณฑาแชร์ให้เราได้ชื่นใจ
“แต่ก่อนเรามีประชุมเดือนละครั้ง เราก็ส่งบันทึกการประชุมให้กับสมาชิกบางคน จนวันหนึ่งมีคุณป้าท่านหนึ่งมาถามเราว่า บันทึกการประชุมเราส่งให้ทุกคนรึเปล่า เราบอกว่าไม่ คุณป้าบอกไม่ได้ ต้องแจกถึงทุกคน ซึ่งตอนนั้นคุณป้าคงทราบดีว่ากิจกรรมต่างๆ ของชมรมเราออกเงินกันเอง และมีงบประมาณจำกัด คุณป้าเลยควักเงินให้เรามาห้าร้อยบาท บอกเป็นค่าแสตมป์ สมัยนั้นค่าส่งฉบับละ 50 สตางค์ และบอกให้เราส่งให้ทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเราก็ส่งถึงทุกคน และสมาชิกบางคนทราบเรื่องนี้ ในแต่ละปี พอถึงวันเกิด เขาก็เอาเงินมาช่วยค่าใช้จ่ายกิจกรรมของชมรม ก็เป็นเรื่องดีที่ช่วยเหลือกัน”
“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ในบันทึกการประชุมเล่าเรื่องสมาชิกคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งและรู้สึกเสียใจมาก เพราะพอสามีทราบว่าเธอเป็นมะเร็ง ก็ไปมีเมียใหม่ ทิ้งให้เธออยู่คนเดียว สมาชิกอีกคน พอได้อ่านบันทึก ก็อยากให้กำลังใจ จึงโทรไปหาสมาชิกคนนั้น และเล่าว่าเธอคนนั้นอยู่บ้านคนเดียว จะนอนก็นอนไม่หลับ ไม่รู้จะทำอะไร จึงนั่งถอนหญ้าทั้งคืนจนถึงเช้า พอถอนหญ้าหมดสนามก็คิดจะฆ่าตัวตาย พอดีได้รับโทรศัพท์จากสมาชิกที่อ่านข่าวเจอ เธอจึงไม่ได้ฆ่าตัวตาย” ซึ่งสมาชิกที่โทรไปหาบอกอาจารย์มณฑาว่า รู้สึกดีมากที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อน
อาจารย์ยิ้มและพูดต่อว่า “สมาชิกหลายคนบอกกับเราว่า การมาร่วมกิจกรรมของชมรม ก็เหมือนได้ทำบุญ ได้ช่วยเหลือเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ประสบการณ์การรักษา หรือกำลังใจ ทำให้รู้สึกว่าการเป็นสมาชิกไม่ได้เป็นแต่ฝ่ายรับ แต่ได้เป็นผู้ให้ด้วย ตรงนี้ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง”
นอกจากนี้อาจารย์ยังยกตัวอย่างความละเอียดของการใส่ใจเพื่อนสมาชิกที่ได้จากการทำงานสะสมเป็นองค์ความรู้ในการดูแลเพื่อนสมาชิก
“วัตถุประสงค์หนึ่งที่เรามีแต่แรก คือ ไปเยี่ยมสมาชิกถึงบ้าน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องบอกก่อนล่วงหน้า ขออนุญาตเขา ให้เกียรติเขาด้วย บางคนเราไปเยี่ยม ลูกชายผู้ป่วยจะต้องมาช่วยอาบน้ำสระผม แต่งตัว หวีผมให้ตั้งแต่เช้า ก่อนที่เราจะไปถึง เราไม่มีการที่ว่า ผ่านไปแถวนั้นแล้วไปเยี่ยมเลย ตรงนี้เราก็ต้องละเอียดอ่อนด้วย หรือในรายเดียวกันที่ให้เราไปเยี่ยม วันหนึ่งเขาก็โทรมาบอกเราว่า ไม่ต้องมาเยี่ยมแล้วนะ เพราะสภาพเขาแย่มากไม่อยากให้ใครมาเห็น ดังนั้นเราจะขออนุญาตผู้ป่วยทุกครั้ง ไม่ใช่แค่ขออนุญาตครั้งแรก”
“อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมาชิกของเราเป็นครูกับช่างตัดเสื้อเยอะมาก หลายคนที่เป็นครูก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นหมอ เขาก็ไปสอนหมอว่า เวลาจะแจ้งผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งจะต้องพูดอย่างไร เพราะบางทีหมอพูดตรงเกินไป ผู้ป่วยก็รับไม่ได้ เคยมีผู้ป่วยที่ พอได้ยินหมอบอกนี่ ถึงกับทรุดลงไปนั่งกับพื้นเลย ต้องโทรเรียกลูกสาวมารับ มาดูแล ตรงนี้เราก็ได้ความรู้เรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วย จากสมาชิกที่เป็นครูของเรา”
การสื่อสารทุกเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การทำกลุ่ม ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างมากมาย ได้เรียนรู้และเก็บเป็นประสบการณ์แก่เพื่อนสมาชิกรวมถึงคุณหมอเจ้าของไข้ด้วย
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง รายที่หมอผ่าตัดเอาเต้านมของผู้ป่วยออก (สมัยนั้นต้องผ่าออกหมด) เมื่อผู้ป่วยมาตรวจตามนัด หมอก็บอกว่าโอเคคุณโชคดีแล้ว แต่ผู้ป่วยกลับร้องไห้และไม่ยอมออกจากห้องตรวจแล้วพูดว่า โชคดีแล้วทำไมต้องตัดเต้านมเค้าไป? ถ้าโชคดีก็เอาเต้านมเค้าคืนมา จนมีน้องออกมาบอกให้เราไปคุยด้วย ผู้ป่วยไม่ยอมคุยได้แต่บอกว่าเอาเต้านมคืนมา จึงได้คุยกับสามีผู้ป่วยและอธิบายว่าจะติดตามเอาแฟ้มผู้ป่วยมาดูให้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหลังจากตรวจสอบแฟ้มประวัติของผู้ป่วยรายนี้พบว่าผลการวิเคราะห์ชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นมะเร็งในระยะแรก จึงได้โทร.กลับไปหาและคุยกับผู้ป่วยพร้อมกับชี้แจงว่า ผลชิ้นเนื้อนั่นหมายความว่า ผู้ป่วยจะไม่ต้องรับการฉายแสงหรือให้คีโมต่อ เหมือนบางรายที่ผลเป็นในระยะที่มากกว่านี้ ทำให้คุณหมอบอกว่าคุณโชคดี ผู้ป่วยได้ฟังก็ยิ้มออกและเข้าใจว่า คำว่า “โชคดี” ในความหมายของคุณหมอ ว่าคืออะไร จากนั้นผู้ป่วยก็มาเข้าประชุมกลุ่ม และมาช่วยดูแลเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ คอยให้กำลังใจและร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชมรมอย่างต่อเนื่อง”
นี่เป็นสิ่งที่อาจารย์มณฑาเอามาใช้ในการสอนนักศึกษาพยาบาลปัจจุบันว่า ผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถที่จะสื่อสารดูแลเขาเป็นแพทเทิร์นตายตัวได้ ต้องทำความเข้าใจกับสภาพจิตใจ และนิสัยใจคอของผู้ป่วยที่แตกต่างกันด้วย
พอพูดถึงการสื่อสาร เราแอบรู้มาว่า หลังจากก่อตั้งชมรมมาได้ราว 5 ปี ทางชมรมก็มีการเปิดเบอร์โทรศัพท์เพื่อรับสายสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการคำปรึกษาอีกด้วย และคนที่รับสายก็ไม่ใช่ใคร เป็นอาจารย์มณฑานั่นเองที่ยังคงรับสายด้วยตัวเองจนถึงทุกวันนี้
“ที่เราทำตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะ เราอยากช่วย และมีความสุขที่จะทำ อย่างบางคนก็ฝากเพื่อนให้โทรมาปรึกษาเรา เราก็ยินดี” และปัจจุบันเรามีไลน์กลุ่มให้สมาชิกได้พูดคุยและสอบถามปัญหาต่างๆ รวมทั้งวางแผนการจัดประชุมทางออนไลน์ (ในยุคปัจจุบันที่มีโรคโควิดเกิดขึ้น)
ทุกวันนี้... มีหลายโรงพยาบาล และหลายกลุ่มโรค ที่เอาชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่มาเป็นต้นแบบของการทำกลุ่มช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งปัจจุบันนี้มีกลุ่มมากมายที่ได้มาร่วมกิจกรรมและมีการเรียนรู้จากที่นี่ และนำไปช่วยผู้ป่วยได้อย่างแพร่หลาย
ปีพ.ศ. 2565 นี้ ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ได้ก่อตั้งมาครบ 30 ปีแล้ว หากเปรียบกับต้นไม้ ก็เป็นต้นไม้ที่เติบโตแข็งแรงงดงามเลยทีเดียว แต่ทว่าต้นไม้ต้นนี้จะไม่มีวันเติบโตได้ ถ้าไม่มีอาจารย์มณฑาเป็นผู้หว่านเมล็ดและรดน้ำพรวนดิน จนเกิดรากแก้วแห่งความรู้ที่แผ่ขยายไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับลำต้นและกิ่งก้านของความรู้สึกใส่ใจในเพื่อนสมาชิกที่แผ่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อาจารย์มณฑาฝากทิ้งท้ายไว้ถึงผู้ที่สนใจอยากมาร่วมเป็นอาสาสมัครว่า
“เราอยากได้คนมาสานต่อ (พยาบาล) เราเองคงจะทำไปตลอดไม่ได้ แม้วันนี้ในส่วนของงบการดำเนินกิจกรรมของชมรมที่เราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิรามาธิบดี (เมื่อเริ่มแรกของการจัดตั้งกลุ่ม) จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จากมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ในเวลาต่อๆ มาจะทำให้การดำเนินงานของเราสะดวกขึ้น แต่เรายังต้องการได้จิตอาสารุ่นใหม่ ทั้งพยาบาล และผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (ที่อายุน้อยกว่า 75 ปี) ที่เป็นสมาชิกของชมรมได้มาช่วยสานต่อเพื่อให้ชมรมสามารถช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง”