การจัดการความกลัวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
หลายคนที่คุณรู้จัก อาจเป็นโรคมะเร็งเต้านม...
ทำไมการรักษามะเร็งเต้านมจึงต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน?
การเห็นข่าวหรือข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมบ่อยๆ ก็อาจทำให้คุณเกิดกลัวว่าจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม หากคุณเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและรักษาหายแล้ว คุณอาจกลัวว่าจะกลับมาเป็นซ้ำ หรือหากคุณกำลังอยู่ในระหว่างการรักษา คุณก็อาจกังวลไปว่าโรคมะเร็งเต้านมจะทำให้คุณเสียชีวิต ความกลัวที่เรามีต่อโรคมะเร็งเต้านมนั้น แตกต่างจากความกลัวจากโรคจิตวิทยา โดยความกลัวนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคุณที่มีต่อโรคมะเร็งเต้านม
1. ความกลัวที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
1.1 กลัวว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม
- คุณกังวลเกี่ยวกับก้อนเนื้อหรืออาการอื่นๆ ที่คุณคิดว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?
- คุณกลัวที่จะไปรับการตรวจเต้านมครั้งแรกหรือไม่? ความกลัวที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมทำให้บางคนหลีกเลี่ยงการไปหาหมอ แต่ยิ่งคุณพบแพทย์เร็วเท่าไร คุณก็จะได้รับการวินิจฉัยโรคของคุณเร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้น อย่าปล่อยให้ความกลัวหยุดคุณจากการมีทางเลือกในการรักษาที่ดี
คนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าความเป็นจริง คุณควรปรึกษาความเสี่ยงของคุณกับแพทย์ เนื่องจากความเสี่ยงของคุณมีผลมาจากหลายปัจจัย หลังจากที่ทบทวนปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดแล้ว หลายคนกลับพบว่าตนเองมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่คาดไว้
1.2 กลัวจะกลับมาเป็นซ้ำ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย หรืออาการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเต้านม คุณกังวลหรือไม่ว่ามะเร็งจะกลับมาแพร่กระจาย?
หากคุณเป็นโรคมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ความกังวลย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าคุณอาจสิ้นสุดกระบวนการรักษาแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการติดตามโรค และไม่มีสัญญาณของการเกิดซ้ำอีกก็ตาม
1.3 อยู่กับมะเร็งระยะสูง
หากคุณกำลังเผชิญกับการกลับมาเป็นซ้ำ หรือกำลังเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย คุณอาจกังวลเกี่ยวกับการตรวจและการรักษาที่คุณต้องได้รับ ว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ไหม รวมไปถึงการรักษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
1.4 ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อรักษาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมให้ต่ำที่สุดแล้ว และยังมีอะไรที่คุณควรทำเพื่อลดความเสี่ยงต่อไปหรือไม่?
2. ขั้นตอนของความกลัวหลังจากการวินิจฉัย
หลังได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความกลัวหลายขั้นตอนดังนี้:
- คุณไม่เชื่อในสิ่งที่คุณได้ยินและปฏิเสธว่ามันคือความจริง
- คุณโกรธหมอที่บอกว่าคุณเป็นมะเร็ง
- คุณถามซ้ำๆ ว่า“ ทำไมต้องเป็นฉัน?” หรือ“ ทำไมถึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้?”
- คุณรู้สึกเสียใจมาก ราวกับว่ามันไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขอะไรได้แล้ว
- คุณยอมรับความจริง ตัดสินใจที่จะต่อสู้ และพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้
ความกลัวผลในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม คือความรู้สึกที่คุณสูญเสียการควบคุมชีวิต คุณรู้สึกไม่มั่นคง โดยส่วนใหญ่ ไม่มีใครอยากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม การยอมรับการวินิจฉัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อคุณเริ่มยอมรับมัน คุณจะได้รับข้อมูลที่ดีที่สุดจากแพทย์ และการสนับสนุนที่ดีที่สุดจากคนที่รักคุณ หลายคนที่กำลังได้รับการรักษา หรือเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว บอกว่า ประสบการณ์ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น และช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนๆ และได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
3. 10 วิธีจัดการความกลัวหลังการวินิจฉัย
3.1 เมื่อคุณตัดสินใจรับการรักษา คุณควรเริ่มทำความรู้จักกับคนในทีมแพทย์ของคุณ รับข้อมูลจากแพทย์และทีม คุณจะพบว่าใครคือคนที่สามารถตอบคำถามของคุณได้ดีที่สุด และพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ
3.2 หาแพทย์ที่จะสามารถตอบคำถามและช่วยจัดการกับความกังวลของคุณได้ ควรเลือกคนที่คุณคุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ
3.3 ทำความเข้าใจในขั้นตอนการตรวจและการรักษา เพื่อลดความกังวล และความตื่นตระหนกในระหว่างเข้ารับการรักษาให้น้อยที่สุด
3.4 วางแผนวิธีรักษากับแพทย์ของคุณหลังทราบผลการทดสอบในทันที หากเป็นไปได้ให้นัดตรวจในช่วงต้นสัปดาห์ เพื่อที่คุณจะไม่ต้องติดวันหยุด ซึ่งอาจมีผลให้ห้องปฏิบัติการทำงานได้ช้าลง
3.5 หาศูนย์แมมโมแกรมที่รังสีแพทย์สามารถแจ้งผลและให้คำปรึกษากับคุณได้ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องกังวลในระหว่างรอการวินิจฉัยจากแพทย์
3.6 เมื่อคุณรู้ว่าคุณกำลังจะมีการคัดกรองด้วยแมมโมแกรมหรือ เข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ให้พยายามหากิจกรรมที่ผ่อนคลายเพื่อลดความตึงเครียด
3.7 หากใครพยายามจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่น่าหดหู่ให้คุณฟัง ให้บอกพวกเขาว่า ขอบคุณสำหรับข้อมูล แต่คุณไม่อยากฟังเรื่องที่จะทำให้คุณต้องกังวลมากไปกว่าเดิม
3.8 หากคุณกังวลหรือเครียดมาก ให้พูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับยาที่อาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือปัญหาการนอนของคุณ
3.9 เข้าร่วมกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม ที่คุณสามารถแบ่งปันประสบการณ์และระบายความในใจของคุณกับคนที่เข้าใจ
3.10 พยายามหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น ค้นหาทัศนคติและประสบการณ์เชิงบวกที่ช่วยยกระดับชีวิต ใช้เวลากับคนที่มองโลกในแง่ดี เพื่อให้คุณยอมรับตัวเองและพร้อมจะรับมือกับโรคที่คุณกำลังเผชิญอยู่