ดีกว่าการรักษาคือการป้องกัน: สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยกับการผลักดันนโยบายตรวจหายีนส์มะเร็งเต้านมฟรี
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เรามีนัดกับแพทย์หญิงชญานุตม์ รัตตดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย อันเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก สปสช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจหายีนส์พันธุกรรม BRCA1 และ BRCA2 ฟรีแก่สตรีที่อยู่ในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง โดยนโยบายนี้จะมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 นี้เป็นต้นไป
เรามาทำความรู้จักที่ไปที่มา หลักการและแนวคิด ผ่านบทสนทนากับคุณหมอชญานุตม์กัน…
“เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย และอัตราการเกิดโรคนี้ค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่เราจะเน้นที่การรักษา คือ พอรู้ว่าเป็นแล้วค่อยรักษา แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการตรวจหามะเร็งเต้านมพัฒนาขึ้นมาก ทำให้เราสามารถป้องกันก่อนการเกิดโรคได้ โดยการตรวจพันธุกรรมที่ผิดปกติ จากการตรวจหายีนส์ BRCA1/BRCA2 ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าคนไข้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม อย่างในกรณีของแอนเจลีนา โจลี ซึ่งคุณแม่ของเธอมียีนส์ที่ผิดปกติ และแองเจล่าได้รับยีนส์นี้จากแม่มา การตรวจพบยีนส์ตัวนี้ ทำให้แอนเจลีนา โจลี สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ คือแอนเจลีนาไม่ได้เป็นนะคะ คือ เขาตรวจพบยีนส์ตัวนี้ก่อน เลยตัดสินใจป้องกันโดยการผ่าตัดเต้านมทิ้งแต่แรกเลย”
คุณหมอขยายความที่มาของการเกิดมะเร็งเต้านมให้เราเห็นภาพต่อ
“ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนี่ 60% มีลักษณะของยีนส์ที่ผิดปกติ ส่วนอีก 20-30% ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่ และอีก 5-10% จะเป็นพันธุกรรมจาก BRCA ตัวนี้ ซึ่งดูแล้วอาจจะเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ 80-90% ของคนที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมนี้ จะช้าจะเร็วหรือเร็วเขาต้องป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแน่นอน ทำไมเราต้องรอจนเขาเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำการรักษา ฉายแสง คีโม ผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตและความมั่นใจในการใช้ชีวิต ทำไมเราไม่ป้องกันก่อนที่จะตรวจเจอว่าเป็น จะดีกว่าไหม ถ้าเราขับเคลื่อนในเชิงรุก เน้นการป้องกัน (Preventive) ก่อนที่จะเกิดโรค” คุณหมอทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า “ทำไม?” ให้เราคิดตาม
“แต่ก่อนค่าใช้จ่ายในการตรวจยีนส์ จะอยู่ประมาณสองถึงสามหมื่นบาท ปัจจุบันอยู่ทีประมาณหมื่นแปดพันบาท แต่ถ้ามองเศรษฐฐานะของประเทศไทย ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึง และถามว่าประเทศไทยเจอเยอะไหม จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยเราตรวจพบราว 20% ด้วยซ้ำ เยอะกว่าต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 5-10% ดังนั้นเราควรจะรักษาคนกลุ่มนี้ก่อนที่เขาจะเป็นมะเร็ง”
“และมีแนวโน้มจะเยอะขึ้นอีก” คุณหมอย้ำถึงสถานการณ์ของการเกิดยีนส์ชนิดนี้ในคนไทย
“และนี่คือเหตุผลที่เขาต้องได้รับการรักษาก่อน (ที่จะเป็น) นอกจากนี้เราพบว่า มักจะเจอในคนอายุน้อย ในกรณีที่ตรวจพบในคนที่อายุมาก ก็จะทำให้เขาเสียชีวิตเร็ว และมีการแพร่กระจายของโรคที่เร็วกว่าคนทั่วไป ดังนั้นถ้ามองในภาพรวมระดับประเทศมันก็น่ากลัว อย่างที่บอก... โดยเศรษฐฐานะทำให้การจ่ายเพื่อตรวจหายีนส์เป็นไปได้ยาก เลยเป็นที่มาของโครงการที่ให้คนไทยสามารถรับการตรวจฟรีถ้ามีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์”
“บางทีเราเจอคนไข้มีข้อบ่งชี้ เราแนะนำให้ไปตรวจ แต่ค่าตรวจประมาณสองหมื่นบาท เขาก็ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะไปตรวจ”
สถานการณ์ที่คุณหมอเล่าให้ฟัง ทำให้เราเห็นภาพว่า ถ้ารัฐสามารถให้บริการตรวจฟรี (ตามเกณฑ์) และตัดไฟแต่ต้นลมได้ รัฐเองก็จะประหยัดงบประมาณในการรักษา ทั้งค่ายา ค่าอุปกรณ์ และประหยัดเวลาของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ทั้งในเรื่องของการเดินทางไป-กลับเพื่อรับการรักษา รวมถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยและคนรอบข้างคนไข้ เป็นการตัดไฟก้อนโตเลยทีเดียว
“ทางสมาคมโรคเต้านมฯ ได้รับลูกต่อจาก สปสช. ให้ช่วยดูมาตรฐานในการส่งตรวจ เราก็รับมาดูในเรื่องของรายละเอียดในทางวิชาการ ว่าข้อบ่งชี้ของต่างประเทศเป็นอย่างไร และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับคนไทย”
ถ้าจะทำความเข้าใจให้ละเอียดกว่านี้คือ ที่ผ่านมาจะฟรีค่ารักษาเมื่อ “เป็น” โรค แต่โครงการนี้คือ “ฟรีค่าตรวจ” โดยที่คนตรวจยังไม่เป็นโรค ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการบริการทางด้านสาธารณสุข
การผลักดันโครงการนี้เริ่มมานานรึยัง?
“เริ่มประมาณเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่จริงๆ เรามีองค์ความรู้นี้มานานมากแล้ว และตกผลึกจนสามารถขึ้นหลักเกณฑ์ต่างๆ จนได้รับการอนุมัติออกมา”
ถือเป็นการทำโครงการที่รวดเร็วมากในความคิดของเรา อย่างนี้มีอุปสรรคอะไรไหม เพราะเป็นโครงการตรวจฟรี (ที่แต่เดิมรัฐจะเน้นรักษาฟรีเมื่อเป็น)
“มีบ้างในแง่ของความคุ้มทุน-คุ้มค่า ว่าทำไปมันจะคุ้มไหม เพราะหมอเองเคยเห็นค่าตรวจที่ถูกสุดหมื่นสอง ในขณะที่แต่ก่อนสามหมื่นเพราะต้องส่งตรวจที่แลปต่างประเทศ ต่อมาไทยเราตรวจได้เอง ก็จะเหลือประมาณหมื่นแปดถึงสองหมื่น สมมติค่าตรวจถูกสุดหมื่นสอง คูณจำนวนคนที่ต้องตรวจก็เป็นตัวเลขมหาศาล แต่ถ้าเทียบกับปล่อยให้เขาเป็นแล้วค่อยมารักษา อย่างหลังค่าใช้จ่ายจะมากกว่ากันมากเลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่สมาคมโรคเต้านมฯ พยายามผลักดัน และเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่คนไข้และต่อรัฐเองด้วย”
“นอกจากนี้... แต่ก่อนเราส่งตรวจแลปเมืองนอกใช้เวลาเกือบๆ สามเดือนกว่าจะรู้ผล คนไข้ก็ลุ้นนาน บางทีกว่าผลจะออกคนไข้ก็เป็นมะเร็งระยะหนึ่งบ้าง ระยะสี่บ้างไปแล้ว ก็มี แต่พอเราตรวจเองในประเทศก็ย่นระยะเวลาเหลือไม่ถึงเดือน และยิ่งถ้าโครงการนี้แพร่หลาย มีจำนวนเคสที่ต้องตรวจมากขึ้น น้ำยาตรวจที่เวลาเปิดใช้แต่ละที ต้องใช้ให้ครบตามจำนวนที่กำหนด ก็สามารถเปิดใช้ได้เร็วขึ้น ผลแลปที่เร็วสุดที่เคยเจอก็ประมาณอาทิตย์นึง ตรงนี้ถ้ารู้ผลเร็วก็รักษาเร็ว โอกาสที่จะเป็นหรือจะไปถึงระยะสี่ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย”
คุณหมอยิ่งตอบ เรายิ่งสัมผัสได้ถึงความสุขของคุณหมอที่มีต่อโครงการนี้ แต่เมื่อตรวจพบแล้ว เราอดที่จะถามต่อไม่ได้ถึงการรักษาป้องกัน
“เมื่อตรวจพบว่ามีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม หมอก็จะแนะนำทางเลือกในการป้องกันหลายแบบ เช่น การผ่าตัด หรือการให้ยาที่จะลดความเสี่ยงที่จะเป็น สมมติว่าเขายังไม่เป็น แต่เลือกที่จะผ่าตัด พอเขาไม่มีเต้านมเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็น ไม่ต้องถูกให้ยาเคมี หรือฉายแสง หรือกินยาโดยไม่จำเป็น และยีนส์ตัวนี้ไม่ใช่เป็นแค่มะเร็งเต้านมอย่างเดียว มันเป็นมะเร็งรังไข่ด้วย มันเชื่อมโยงกันหมด ก็จะต้องตัดรังไข่ด้วย ซึ่งแน่นอนมันก็จะดีกว่า (คือตัดโอกาสการเป็นทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่) แต่ปัจจุบันนี้วิวัฒนาการไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเดียว บางคนเลือกที่จะให้ยาและตรวจติดตามอาการด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น ตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า”
คุณหมอเสริมความรู้ต่ออีกว่า
“มะเร็งเต้านมไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ วันนึงจะเกิด มันจะต้องมีเซลล์ที่จะเปลี่ยนแปลงในท่อน้ำนมก่อน ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่จะเห็นจากหินปูนในตัวเต้านม ในคนไทยที่มียีนส์ผิดปกติ เต้านมจะค่อนข้างแน่น ทำให้เห็นไม่ชัดก็ต้องใช้คลื่นแม่เหล็กในการตรวจ ตรงนี้ก็จะทำให้เขาเข้าถึงได้เร็วขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนไทยถ้าให้มาเช็คอัพก็จะไม่มาเช็คเท่าไร มาอีกทีคือคลำเจอก้อนแล้ว นั่น อาจจะหมายถึงระยะที่หนึ่งถึงระยะที่สี่เลย เราอยากให้ตรวจเจอในระยะต้นๆ หรือระยะที่ศูนย์เลยยิ่งดี คือ มีเซลล์มะเร็งในท่อน้ำนมที่ยังไม่ทะลุออกจากท่อน้ำนมออกมา ซึ่งตรงนี้ถ้าตรวจเจอ โอกาสหายมีถึง 99% ดังนั้นผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเมมโมแกรมปีละครั้ง”
ทราบมาว่าตอนนี้ ในประเทศไทยมีที่ตรวจอยู่ 4 แห่ง โดยเจาะเลือดและส่งเลือดมาที่แลป ในอนาคตทางสมาคมฯ กำลังผลักดันให้มีแลปตรวจทั่วประเทศ เช่น ตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ โดยมีการอบรมบุคลากรและควบคุมมาตรฐานด้วย
“ถ้ามีแลปตรวจทั่วประเทศ ก็จะทำให้การตรวจเป็นไปในวงกว้างมากขึ้น ผลตรวจก็จะรวดเร็วขึ้น สร้างการรับรู้และตระหนักในวงกว้างมากขึ้น เช่น คนในท้องที่พูดถึงกันว่าไปทำไรมา อ๋อ ไปตรวจเลือดเรื่องนี้มาการสร้างการรับรู้ก็เป็นการป้องกันอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน”
มาถึงตรงนี้เรารู้สึกว่า โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เพราะตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ใครเข้าเกณฑ์สุ่มเสี่ยงก็สามารถเข้ารับการตรวจหายีนส์ดังกล่าวฟรี
“แต่นี่แค่ตรวจฟรีนะ ยังไม่ได้พูดถึงการรักษาป้องกันฟรีถ้าตรวจเจอ” คุณหมอกล่าวเสริม
“โครงการต่อไปของสมาคมฯ คือ การผลักดันในด้านการรักษาถ้าตรวจเจอยีนส์ BRCA1/BRCA2 แต่ก่อนถ้าตรวจเจอ และคนไข้ต้องการจะผ่าเต้านมออก จะไม่อยู่ในสิทธิ์การรักษา เพราะมองว่ายังไม่เป็นโรค ปัจจุบันนี้สมาคมฯ พยายามตั้งเกณฑ์มาตรฐานว่า ถ้าเจอยีนส์ผิดปกติ คนไข้ต้องได้รักษาฟรีตามไปด้วยกัน หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด”
อ๋อ! เราอุทาน เพราะว่าการตรวจนี้ ในนิยามของรัฐถือว่าไม่ใช่โรค จะมาฟรีไม่ได้ จะฟรีก็ต่อเมื่อเป็นโรค ดังนั้นโครงการนี้จะผลักดันให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ได้รับการรักษาฟรีก่อนที่จะเป็นโรค?
“ใช่ๆ” คุณหมอตอบและเสริมต่อว่า...
“ดังนั้นเราจึงพยายามผลักดันนโยบายให้พิจารณาว่าคนที่ตรวจเจอเหล่านี้ คือคนเป็นโรคนะ เค้าควรจะได้รับการผ่าตัดฟรี รวมถึงทั้งยาต่างๆ ด้วย อย่างเช่น สมมติคนไข้เป็นมะเร็งเต้านมข้างขวา และมียีนส์ผิดปกติอีกข้างซ้าย (แต่ยังไม่เป็นมะเร็ง) ถ้าเขาจะผ่าข้างซ้ายเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเค้าต้องเสียเงินนะ (ถือว่าข้างนึงเป็นโรค ผ่าตัดฟรี อีกข้างไม่เป็นโรคแม้จะเจอยีนส์ดังกล่าวถ้าจะตัดก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง) สมาคมฯ ก็จะพยายามผนวกการตรวจและการรักษาฟรีไปด้วยกัน”
คุณหมอย้ำว่า โครงการนี้เหมือนมี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกให้คนไข้กลุ่มเสี่ยงได้ตรวจฟรี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ส่วนขั้นตอนที่สองคือการรักษาป้องกันฟรี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
“เพราะว่าถ้าตรวจเจอ แต่ไม่ได้รับการรักษา ก็ไม่ต่างอะไรกับที่เขาไม่ได้ตรวจ ไหนๆ ก็ตรวจเจอแล้วก็ต้องให้มีการรักษาต่อ”
บางโครงการขอแค่ตั้งต้น ตั้งตัวตุ๊กตาขึ้นมา แล้วปรับเปลี่ยนปรับใช้กันไป แต่สำหรับโครงการนี้ตั้งต้นได้คงไม่พอ แต่ต้องไปให้สุดทาง เพราะนั่นหมายถึงชีวิตคนเลยทีเดียว เรารู้สึกอย่างนั้นและหวังให้ขั้นตอนที่สองบรรลุผลในเร็ววัน
สุดท้าย... เราถามถึงสถานการณ์มะเร็งเต้านมในปัจจุบัน
“ตอนนี้มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิง อาจด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทำให้ตรวจพบได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สมาคมฯ ที่เปิดให้บุคลากรล็อคอินเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงการจัดอบรมบุคลากรให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของคนไข้ที่จะเป็นมะเร็งได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ก็มีส่วนทำให้เราตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาตรวจกัน มาโรงพยาบาลอีกทีก็เป็นแผลลุกลามใหญ่โตแล้ว ตรงนี้เราก็อยากให้บุคลากรมีส่วนในการร่วมป้องกันโรคดังกล่าว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวประชาชนเองที่ต้องหมั่นตรวจ เช่น คลำหาก้อนเนื้อทุกเดือน หรือตรวจกับทางแพทย์ปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป‘” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
เราขอขอบคุณคุณหมอชญานุตม์ ที่ทำให้เราเห็นมุมมองของสมาคมฯ ในการขยายขอบเขตของการรักษาไปสู่การป้องกันที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติในหลากหลายมิติเลยทีเดียว และเราก็แอบหวังในใจว่า โครงการดีๆ เช่นนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับการป้องกันโรคต่างๆ ในอีกหลายๆ โรคในอนาคตด้วย