ชนิดของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งได้หลายชนิด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง เช่น ในท่อน้ำนม ในต่อมน้ำนม ฯลฯ โดยสามารถแบ่งระยะของโรคออกเป็น มะเร็งเต้านมที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในท่อน้ำนม มะเร็งเต้านมที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งออกมานอกท่อน้ำนม และมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย เป็นต้น
โดยเราสามารถแบ่งประเภทของมะเร็งเต้านมได้ดังนี้
มะเร็งของท่อน้ำนมที่ยังไม่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม (Ductal Carcinoma in Situ: DCIS)
มะเร็งของท่อน้ำนมที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามจากท่อน้ำนมนั้นมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า แต่หากไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถที่จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมที่ลุกลามออกจากท่อน้ำนมได้เช่นกัน ถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบอนุรักษ์เต้านม โดยที่ไม่ได้รับการฉายรังสีร่วมด้วย จะมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 25-30% แต่หากได้รับการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี อัตราการกลับมาเป็นซ้ำจะลดลงประมาณ 15% โดยในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดนี้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก
1. ประชาชนมีอายุยืนขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
2. เครื่องเอกซเรย์เต้านมมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งของท่อน้ำนมที่ยังไม่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดที่มีการลุกลามออกจากท่อน้ำนม (Invasive Ductal Carcinoma: IDC)
เป็นมะเร็งเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด โดยสามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถพบได้ในทุกวัย โดยเฉพาะในวัยกลางคน อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยมะเร็งชนิดนี้ คือมะเร็งเต้านมที่ลุกลามออกมาจากท่อน้ำนมมายังเนื้อเยื่อเต้านมรอบข้าง และหากทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้รับการรักษา มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ
มะเร็งเต้านมของต่อมน้ำนม (Invasive Lobular Carcinoma: ILC)
มะเร็งเต้านมของต่อมน้ำนม เป็นมะเร็งที่พบรองลงมาจากมะเร็งเต้านมของท่อน้ำนม โดยสามารถพบได้ประมาณ 10% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และอวัยวะอื่นๆ ได้ มะเร็งเต้านมดังกล่าวนี้สามารถพบได้ในทุกวัย ส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน อายุเฉลี่ยประมาณ 55-60 ปี โดยผู้ป่วยที่เคยได้รับฮอร์โมนทดแทนจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดนี้มากขึ้น
มะเร็งเต้านมในผู้ชาย (Male Breast Cancer)
มะเร็งเต้านมในผู้ชายเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (ประมาณ 1%) จากสถิติในปี 2019 พบว่ามีผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ประมาณ 2,670 ราย โดยส่วนใหญ่คนมักคิดว่าผู้ชายไม่มีเต้านม ดังนั้นจึงไม่น่าจะเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ แต่ความเป็นจริงทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็มีเต้านมทั้งคู่ จึงทำให้สามารถเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เพียงแต่ผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศหญิงมากระตุ้นทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ แต่ในผู้ชายไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงมากระตุ้นจึงทำให้เต้านมมีขนาดเล็ก แต่ในผู้ชายที่ได้รับฮอร์โมนหรือยาบางชนิดมากระตุ้น เต้านมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้
มะเร็งของหัวนม (Paget‘s Disease of The Nipple)
มะเร็งของหัวนมเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (ประมาณ 5%) ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการคัน บวมแดง เป็นผิวหนังอักเสบ เป็นขุยๆ บริเวณหัวนมและลานนม พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบมากในผู้หญิง มะเร็งดังกล่าวนี้เริ่มพบได้ในอายุประมาณ 50 ปี โดยในผู้หญิงพบที่อายุเฉลี่ย 62 ปี ส่วนในผู้ชายพบที่อายุเฉลี่ย 69 ปี และกว่า 97% ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของหัวนม จะมีมะเร็งของท่อน้ำนมในเนื้อเต้านมร่วมด้วย โดยพบได้ทั้งชนิดที่ยังอยู่ในท่อน้ำนม (Carcinoma in Situ) หรือชนิดที่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม (Invasive)
โดยกลไกการเกิดมะเร็งของหัวนมนั้น แบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ
1. เกิดจากเป็นมะเร็งของท่อน้ำนมที่หัวนมแล้วมีการลุกลามขึ้นมาถึงหัวนมและลานนม ซึ่งทฤษฎีได้อธิบายว่าทำไมผู้ป่วยมะเร็งของหัวนมจึงมีมะเร็งในเต้านมร่วมด้วย
2. เกิดจากเป็นมะเร็งของหัวนมเองโดยตรง ซึ่งพบได้น้อย โดยผู้ป่วยจะมีเพียงเป็นรอยโรคมะเร็งที่หัวนมเท่านั้น ไม่มีมะเร็งในเต้านมร่วมด้วย
มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Metastasis Breast Cancer)
มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย คือ มะเร็งของเต้านมที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ออกสู่กระแสเลือด และไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ปอด กระดูก และสมอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งใช้ระยะเวลาเป็นระดับเดือนถึงปี โดยพบว่า 30% ของมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น จะพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเลยโดยที่ไม่เคยมีมะเร็งที่เต้านมมาก่อนก็ได้
โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้ป่วยทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกโกรธ หวาดกลัว วิตกกังวล เครียด และซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายแล้ว แต่ผู้ป่วยยังไม่ควรหมดหวัง เพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายนี้ หลายรายมีชีวิตที่ค่อนข้างยืนยาว เนื่องจากปัจจุบันวิธีการรักษามีการพัฒนาขึ้น และมีหลากหลายวิธี ทั้งแบบการให้ยาเพียงอย่างเดียว หรือรักษาร่วมกับวิธีอื่น เพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดทูบูล่าร์ (Tubular Carcinoma)
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดทูบูล่าร์เป็นอีกชนิดของมะเร็งของท่อน้ำนม มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 1-4% เป็นมะเร็งที่ส่วนใหญ่มีขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร โดยผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนที่เต้านม หรืออาจคลำไม่พบก้อนที่เต้านม แต่พบความผิดปกติจากการเอกซ์เรย์เต้านม มะเร็งชนิดนี้มีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า และมีการพยากรณ์ของโรคค่อนข้างดี อายุเฉลี่ยของมะเร็งชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 50 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบได้น้อยในผู้ชาย
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดเมดูลารี่ (Medullary Carcinoma)
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดเมดูลารี่เป็นอีกชนิดของมะเร็งของท่อน้ำนม เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (ประมาณ 3-5%) ลักษณะของก้อนมะเร็งจะเป็นก้อนนุ่มๆ คล้ายเนื้อสมอง จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า เมดูลารี่ (Medullary) มะเร็งชนิดนี้พบได้ในทุกช่วงอายุ โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปลายๆ ถึง 50 ปี และมักพบมะเร็งชนิดนี้ในผู้ป่วยที่มียีนส์ BRCA1 ผิดปกติ (BRCA1 Mutation) มะเร็งชนิดนี้นั้นเป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และมีการพยากรณ์ของโรคค่อนข้างดี
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดมิวซินัส (Mucinous Carcinoma)
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดมิวซินัสเป็นอีกชนิดของมะเร็งของท่อน้ำนม เป็นมะเร็งชนิดนี้จะสร้างสารเยื่อเมือกออกมา ซึ่งปกติสารเยื่อเมือกนี้สร้างมาจากอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทางเดินอาหาร ปอด ตับ ฯลฯและสารดังกล่าวนี้จะอยู่ในก้อนมะเร็งด้วย มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 2-3% และมีประมาณ 5% ที่มีมะเร็งของท่อน้ำนมชนิดอื่นร่วมด้วย โดยมะเร็งชนิดนี้พบได้น้อยในผู้ชาย พบได้ในทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุประมาณ 60-70 ปี มะเร็งดังกล่าวนี้เป็นมะเร็งที่ลุกลามน้อย มีโอกาสน้อยที่จะมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และมีการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดี
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดแปปปิลารี่ (Papillary Carcinoma)
มะเร็งของท่อน้ำนมชนิดแปปปิลารี่ เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (ประมาณ 1-2%) ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยทองแล้ว ลักษณะของมะเร็งดังกล่าวนี้จะเป็นมะเร็งขนาดเล็ก ขอบเขตก้อนเรียบ แต่ภายในก้อนมีติ่งยื่นลักษณะคล้ายนิ้วอยู่ภายใน และมักพบร่วมกับมะเร็งของท่อน้ำนมชนิดอื่นๆ