การวางแผนการรักษา
หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม คุณและแพทย์ของคุณจะต้องเริ่มวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณตามผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยวิธีการรักษาที่ใช้ จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรักษา และเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม คุณและแพทย์จะร่วมกันตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา และต้องประเมินการตัดสินใจใหม่เป็นระยะๆ โดยมีทีมแพทย์ของคุณเป็นผู้แนะนำ
1. ลำดับแนวทางของการรักษา
ตัวอย่างลำดับของการรักษาที่พบมากที่สุด คือ:
- โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดจะเป็นสิ่งที่ทำเป็นลำดับแรก สำหรับบางคนอาจรับการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งเต้านมออกและการผ่าตัดเพื่อสร้างเต้านมไปพร้อมๆ กัน
- ถ้าคุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คุณก็มักจะได้รับยาเคมีบำบัดเป็นลำดับที่สอง
- การรักษาด้วยรังสีมักจะให้หลังจากสิ้นสุดการรักษาด้วยการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดแล้ว
- การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน (เช่น Tamoxifen หรือ ยาในกลุ่ม Aromatase Inhibitor) มักจะเริ่มต้นหลังจากการรักษาอื่นๆ หากผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาของก้อนมะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก
อย่างไรก็ตาม ลำดับการรักษานั้นเป็นเรื่องปัจเจกที่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย คุณจึงควรพูดคุยกับแพทย์ของคุณเพื่อกำหนดลำดับการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง และคุณควรจะพูดคุยกับแพทย์ของคุณและแพทย์ทางศัลยกรรมตกแต่งในส่วนของการผ่าตัดเสริมเต้านม ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด
หากคุณจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งเต้านม ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะอ่อนแอลง หากคุณเคยเป็นโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือตอนอายุ 50 ปีขึ้นไป อายุและระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแออาจทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดที่มีผื่นอักเสบที่เจ็บปวดและรุนแรง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนก่อนที่จะเริ่มการรักษามะเร็งเต้านม แต่หากระบบภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอคุณไม่ควรรับวัคซีนจนกว่าคุณจะได้รับการรักษาและฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันจนกลับมาเป็นปกติ
หากคุณเคยเป็นโรคอีสุกอีใสตอนเป็นเด็กหรือตอนมีอายุ 50 ปีขึ้นไป คุณควรถามแพทย์ว่า คุณควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดก่อนที่จะเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมหรือไม่ ทั้งนี้ แม้คุณจะได้รับวัคซีนแล้ว คุณก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคงูสวัดได้ แต่ผื่นจะเจ็บปวดและรุนแรงน้อยกว่า
2. ก่อนการรักษา: วางแผนล่วงหน้าเพื่อความอยู่รอด
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำให้ผู้ป่วยและแพทย์เริ่มวางแผนชีวิตหลังการรักษาให้เรียบร้อยก่อนเริ่มการรักษา เพื่อป้องกัน ลด หรือเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านม เรียกว่า "การวางแผนเพื่อความอยู่รอด” การวางแผนเริ่มขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่การวินิจฉัยโรคมะเร็งและจะดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาการรักษา แต่โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงแผนเพื่อความอยู่รอด เรามักจะกล่าวถึงเวลาหลังจากการรักษาเบื้องต้น เช่น การผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีและยาเคมีบำบัด จนกระทั่งสิ้นสุด คุณอาจจะยังคงอยู่ระหว่างการรักษาระยะยาว เช่น การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนหลังการรักษาหลักของคุณเสร็จสิ้นแล้ว
หลังการรักษาหลัก คุณอาจได้รับผลข้างเคียงทางกายภาพในระยะยาว ผลกระทบเหล่านี้อาจเริ่มในระหว่างการรักษา หลังจากรักษา หรือแม้กระทั่งหลายเดือน หรือหลายปีต่อมา ซึ่งจะแตกต่างจากผลข้างเคียงทันที เช่น อาการคลื่นไส้ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการระคายเคืองผิวหนังในระหว่างการฉายรังสี ซึ่งมักจะหายหลังการรักษาทันที
หากคุณเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม คุณจะได้รับการรักษาไปตลอดชีวิตของคุณ ข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลผลข้างเคียงจากการรักษาในระยะยาวด้านล่างนี้ อาจเป็นประโยชน์กับคุณ
ผลกระทบระยะยาวจากการรักษามะเร็งเต้านมที่อาจพบได้:
- ความเจ็บปวด
- ความเหนื่อยล้าและความอ่อนแอ
- ความผิดปกติของแขนส่วนบน: การจำกัดการเคลื่อนไหวของแขน
- การบวมคั่งน้ำเหลือง (Lymphedema) บริเวณแขน มือ หรือร่างกายส่วนบนอันเป็นผลมาจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง
- อาการปวดข้อ
- โรคทางระบบประสาท ปวดชาและ/หรือรู้สึกเสียวนิ้วมือและนิ้วเท้า
- ภาวะซึมเศร้า
- ภาวะหมดประจำเดือน หรือภาวะมีบุตรยากจากการทำเคมีบำบัด
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น
- ผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด
- โรคกระดูกพรุน
- ปัญหาทางเพศ เช่น การสูญเสียแรงขับทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงในช่องคลอดที่ทำให้การมีเพศสัมพันธ์เจ็บปวดหรือยากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงในความทรงจำหรือความคิด (บางครั้งเรียกว่า "Chemobrain" แม้ว่าจะมีการเกิดภาวะนี้ในผู้ที่ไม่ได้รับยาเคมีบำบัดด้วยก็ตาม)
บ่อยครั้งที่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาแย่ลง และผู้ป่วยอาจยอมรับและปรับตัวได้ว่านี่เป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตใหม่ของพวกเขา แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ป่วยและแพทย์ควรจะ:
1. ทบทวนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวก่อนเริ่มการรักษา : วางแผนเป้าหมายชีวิตหลังการรักษาของคุณกับทีมของคุณ เช่น หากคุณเป็นศัลยแพทย์ นักไวโอลิน ช่างเย็บผ้าหรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท แพทย์ของคุณอาจสามารถหลีกเลี่ยงยาเคมีบำบัดที่มีผลข้างเคียงต่อปลายประสาท หากคุณต้องการมีลูกในอนาคต อาจมีวิธีในการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ของคุณ ดังนั้น การพูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายการทำงานและเรื่องส่วนตัวของคุณ จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะกับคุณได้
2. หาวิธีการป้องกันผลข้างเคียงรวมถึงวิธีการดูแล : เช่น การออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น การเดินเป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน ช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าในระยะยาว การออกกำลังกาย การคุมอาหารและการลดน้ำหนักสามารถช่วยในการรักษาโรคกระดูกพรุน พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ระหว่างและหลังการรักษาเพื่อรับรู้และจัดการกับผลข้างเคียง แพทย์ของคุณยังสามารถแนะนำคุณกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ที่สามารถช่วยคุณได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์ หรือจิตแพทย์
3. ติดต่อกับนักบำบัดที่เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูสภาพมะเร็งเต้านม : พวกเขาจะทำการประเมินผู้ป่วยก่อนการรักษา และคอยดูระหว่างการรักษา และหลังการรักษา บางครั้งเรียกว่า "การฟื้นฟูสมรรถภาพ"
4. ปรับตารางเวลาทำงานของคุณให้เหมาะสมกับการรักษามะเร็งเต้านม
วางแผนเป้าหมายชีวิตหลังการรักษาของคุณกับทีมของคุณ เช่น หากคุณเป็นศัลยแพทย์ นักไวโอลิน ช่างเย็บผ้าหรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท แพทย์ของคุณอาจสามารถหลีกเลี่ยงยาเคมีบำบัดที่มีผลข้างเคียงต่อปลายประสาท หากคุณต้องการมีลูกในอนาคต อาจมีวิธีในการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ของคุณ ดังนั้น การพูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายการทำงานและเรื่องส่วนตัวของคุณ จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะกับคุณได้
โดยในการวางแผนปรับเวลานั้น มีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามประเภทการรักษา ดังนี้:
- การผ่าตัด
- ยาเคมีบำบัด
- รังสีรักษา
- ยาต้านฮอร์โมน
- การรักษาด้วยยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy)
- ข้อกังวลจากการวางแผนทั่วไป
การผ่าตัด
คนส่วนใหญ่จะต้องหยุดทำงานเมื่อได้รับการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ผ่าตัดทั้งเต้านม หรือการผ่าตัดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่ ระยะเวลาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัดที่คุณได้รับและการฟื้นตัวของคุณ โดยแพทย์และพยาบาลของคุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับระยะเวลาที่คุณจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลสำหรับการผ่าตัด หากคุณผ่าตัดแบบสงวนเต้านม โดยปกติคุณจะสามารถกลับบ้านได้ภายในหนึ่งหรือสองวัน และอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นถึงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ หากคุณได้รับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด การอยู่โรงพยาบาลของคุณอาจนานกว่านั้น
การฟื้นตัวอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงชนิดของการผ่าตัดเต้านมที่คุณได้รับและการฟื้นฟูของร่างกาย หากคุณมีโครงการที่สำคัญในที่ทำงาน หรือวันหยุดพักผ่อนตามแผนที่วางไว้ ก็อาจจะชะลอการผ่าตัดได้นานถึง 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม
หลังการผ่าตัด และต้องมีการใส่สายระบายน้ำบริเวณแผลผ่าตัด อาจเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้หากคุณต้องการที่จะเดินทาง หลังจากการผ่าตัดครั้งใหญ่จะเป็นช่วงเวลาของการฟื้นตัว ดังนั้น หากคุณวางแผนที่จะออกจากโรงพยาบาล คุณควรพักในสถานที่ที่สะดวกสบายและไม่ไกลจากสถานพยาบาล
ยาเคมีบำบัด
การทำกิจวัตรประจำวันของคุณนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะสามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดได้หรือไม่ ผู้หญิงบางคนสามารถทำงานต่อไปได้โดยมีอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้หญิงบางคนจำเป็นต้องพักฟื้น และไม่สามารถทำงานได้
ในการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้ง ทีมแพทย์ของคุณจะสามารถคาดการณ์ได้ ว่าเมื่อไหร่จะเป็นวันที่เหมาะสม ทีมแพทย์สามารถที่จะช่วยคุณในการวางแผนชีวิตของคุณในระหว่างการรักษา สมมติว่าคุณกำลังรับการรักษาทุกๆ สามสัปดาห์ สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่สองหลังการรักษาคุณอาจมีอาการคลื่นไส้เหนื่อยและอ่อนไหวต่อการติดเชื้อ ภายในสัปดาห์ที่สามคุณอาจรู้สึกดีกับการทำงานหรือเดินทาง สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่าตารางการรักษาของคุณสามารถยืดหยุ่นได้ คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์ของคุณ เพื่อปรับตารางการรักษาให้เหมาะกับแผนชีวิตของคุณ แม้ว่าการเริ่มต้นรักษาด้วยยาเคมีบำบัดของคุณอาจช้าไปเล็กน้อย แต่ทีมแพทย์สามารถจะจัดตารางเวลาใหม่ให้กับคุณได้
สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย โดยปกติแพทย์ของคุณสามารถปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับแผนชีวิตของคุณได้ แม้ว่าคุณจะมีโรคที่กำลังพัฒนาและก่อให้เกิดอาการ แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรรับรักษาทันที
รังสีรักษา
คุณยังสามารถทำงานได้ในขณะที่เข้ารับการฉายรังสี โดยตารางการฉายรังสีของคุณมักจะเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 5 ถึง 7 สัปดาห์ โดยมักจะเป็นการนัดหมายสั้นๆ เนื่องจากกระบวนการรักษาใช้เวลาเพียง 15 ถึง 30 นาที ศูนย์หลายแห่งเปิดทำการเร็วและปิดช้าเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสามารถไปทำงานได้ปกติ โดยทั่วไปการฉายรังสีจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานของคุณ คนส่วนใหญ่มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดจากการรักษาด้วยรังสี เมื่อคุณเริ่มการรักษา คุณควรเข้ารับการรักษาตรงเวลาอย่างต่อเนื่อง
การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน
ยาต้านฮอร์โมนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบเม็ด ซึ่งจะไม่เป็นปัญหากับตารางเวลาของคุณ แต่หากผลข้างเคียงของการรักษาส่งผลกระทบต่องานประจำของคุณ คุณควรปรึกษาแพทย์ของคุณเพื่อเปลี่ยนการรักษา
การรักษาด้วยยาแบบพุ่งเป้า
ยาพุ่งเป้าแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับยาที่คุณใช้ ยาที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ Trastuzumab (ชื่อทางการค้า: Herceptin) เป็นยาที่ได้รับทางการฉีดเข้าเส้นเลือด ในขณะที่ Lapatinib (ชื่อทางการค้า: Tykerb) ซึ่งเป็นยาที่ใหม่กว่า มีลักษณะเป็นยาเม็ด
ปฏิกิริยาของแต่ละคนต่อการรักษาด้วยยาพุ่งเป้านั้นแตกต่างกันไป เมื่อคุณรู้ว่าคุณจะมีอาการตอบสนองอย่างไร ทีมแพทย์ของคุณก็จะสามารถวางแผนในการรักษาให้เหมาะสมกับคุณได้