การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนั้น ประกอบด้วย การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีวิทยา และการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งเมื่อแพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วนั้น แพทย์จะทำการส่งตรวจทางรังสีวิทยา และเมื่อแพทย์พบความผิดปกติ แพทย์จะต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อทำการส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในตำแหน่งบริเวณที่สงสัย เพื่อการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ถูกต้องและครบถ้วน
เทคนิคการเจาะชิ้นเนื้อนั้นมีหลากหลายวิธี ดังต่อไปนี้
1.การเจาะดูดเซลล์ด้วยเข็มขนาดเล็ก (Fine needle aspiration biopsy)
การเจาะดูดเซลล์ด้วยเข็มขนาดเล็กนั้นวิธีการที่ทำได้ง่าย เจ็บน้อย และไม่มีแผล โดยวิธีการทำเริ่มต้นด้วยการฉีดยาชาตรงบริเวณที่จะทำการเจาะดูดเซลล์ หลังจากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มลงบนตำแหน่งก้อนที่เต้านมในบริเวณที่สงสัย และทำการเจาะดูดเซลล์ออกมาส่งตรวจ และนำเซลล์ที่เจาะดูดออกมานั้นมาป้ายลงบนสไลด์ ซึ่งในบางกรณีหากก้อนเต้านมนั้นคลำได้ไม่ชัดเจน อาจใช้อัลตร้าซาวด์ร่วมด้วยในการเจาะดูดเซลล์
2.การเจาะชิ้นเนื้อแบบแท่ง (Core Needle Biopsy)
เป็นการเจาะชิ้นเนื้อเป็นแท่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร ก่อนทำจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังจากนั้นนำเข็มมาเจาะชิ้นเนื้อตรงบริเวณก้อนเนื้อที่เต้านม ส่วนใหญ่จะเจาะเนื้อประมาณ 3-6 ครั้ง และในผู้ป่วยบางรายอาจทิ้งโลหะขนาดเล็ก (clip) ไว้ในก้อนเนื้อ เพื่อทำให้หาก้อนเนื้อเวลาผ่าตัดก้อนเนื้อในภายหลังทำได้ง่ายมากขึ้น
3.การเจาะชิ้นเนื้อแบบแท่งแบบชนิดดูด (Vacuum assisted breast biopsy)
เป็นการเจาะชิ้นเนื้อแบบแท่งร่วมกับมีเครื่องดูดที่ทำการดูดก้อนเนื้อออกมา ก่อนทำจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังจากนั้นนำเข็มมาเจาะชิ้นเนื้อตรงบริเวณก้อนเนื้อที่เต้านมและหลังจากนั้นต่อเครื่องเพื่อทำการดูดก้อนเนื้อออกมาโดยเครื่องจะทำการหมุนเข็มไปรอบๆแล้วทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาจนหมดทั้งก้อน หลังจากตัดชิ้นเนื้อเสร็จผู้ป่วยบางรายอาจทิ้งโลหะขนาดเล็ก (clip) ไว้ในก้อนเนื้อ เพื่อทำให้หากต้องมาผ่าตัดก้อนเนื้อในภายหลังทำได้ง่ายมากขึ้น
4.การผ่าตัดก้อนเนื้อบางส่วนออกมา (Incisional biopsy)
เป็นการผ่าตัดก้อนเนื้อบางส่วนออกมาในกรณีก้อนเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่แล้วทำการเจาะดูดเซลล์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เวลาทำจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วใช้มีดตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาส่งตรวจ
5.การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกทั้งหมด (Excision Biopsy)
เป็นการผ่าตัดก้อนเนื้อออกทั้งหมด เวลาทำอาจจะทำด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรืออาจดมยาสลบ หลังจากนั้นใช้มีดทำการผ่าตัดก้อนเนื้อออกมาทั้งหมดแล้วทำการส่งตรวจ
ก่อนทำการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เราควรจะทราบข้อมูลดังต่อไปนี้
· ควรทราบข้อมูลของการเอกซเรย์และอัลตราซาวน์เต้านมของตนเอง
· ควรทราบว่าตำแหน่งก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติของเต้านมของคุณอยู่ตรงบริเวณไหน
· ควรทราบว่าแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อแก่คุณด้วยวิธีใด
· ควรทราบขั้นตอนการทำการตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นอย่างไร และเหตุผลในการเลือกวิธีการตรวจดังกล่าวนี้
· ควรทราบว่าคุณจะทำการตรวจชิ้นเนื้อเมื่อไร
· หากมีข้อสงสัยอื่นๆคุณควรซักถามแพทย์จนเข้าใจ หลังจากนั้นก็ทำการเซ็นใบยินยอมก่อนทำการตรวจชิ้นเนื้อ
· ควรทราบว่าหลังทำการตรวจชิ้นเนื้อแล้วคุณควรต้องทำอย่างไรต่อหลังทราบผลชิ้นเนื้อ