การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI)
การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI) เป็นการตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นการตรวจเอกซเรย์ที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีไม่มาก แต่ก็มีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจดังนี้
1.ในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมของคนในครอบครัวสายตรงที่ชัดเจน หรือ มีประวัติว่ามีความผิดปกติของพันธุกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
2.มีความผิดปกติของการเอกซเรย์และอัลตราซาวน์เต้านม (Mammogram and ultrasound) แต่ยังเห็นไม่ชัดเจนและต้องการตรวจละเอียดเพิ่มเติม
3.ใช้ในการตรวจติดตามการกลับมาเป็นซ้ำขงมะเร็งเต้านมหลังการรักษา
การตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI for screening)
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI) นั้น ไม่ได้แนะนำให้ตรวจในผู้หญิงทั่วไป แต่แนะนำให้ทำในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของพันธุกรรม BRCA1 หรือ BRCA2 ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอาจต้องมีการตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI) เพิ่มเติมร่วมกับการตรวจเอกซเต้านมและอัลตร้าซาวเต้านมปกติ (Mammogram and ultrasound breast)
แต่การตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น ไม่แนะนำให้ทำเพียงอย่างเดียว ควรทำร่วมกับการเอกซเต้านมและอัลตร้าซาวเต้านม เนื่องจากในบางกรณีการตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นอาจผิดพลาดหรือตรวจไม่พบความผิดปกติที่ของเต้านมที่การเอกซเรย์เต้านมปกติสามารถมองเห็นได้
ใครควรได้รับการคัดกรองด้วยการตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
· ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม
ในกรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม แนะนำควรตรวจตัดกรองเต้านมด้วยการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ร่วมกับ การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI) นั้นในกรณีดังนี้
1.ผู้ป่วยมีความผิดปกติของพันธุกรรม BRCA1 หรือ BRCA2
2.ผู้ป่วยมีญาติสายตรง เช่น มารดา บิดา พี่ชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ที่พบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม BRCA1 หรือ BRCA2 โดยที่ตัวผู้ป่วยเองยังไม่ได้รับการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม
3.ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม คือ มีความเสี่ยงมากกว่า 20-25% ในช่วงชีวิตของผู้ป่วย (lifetime risk of breast cancer >20-25%)
4.ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งบางชนิดที่หน้าอก และได้รับการฉายรังสีร่วมด้วย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Hodgkin
5.ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น Li-Fraumeni syndrome, Cowden syndrome, or Bannayan-Riley-Ruvalcaba syndrome หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าว
· ผู้ป่วยมีความเสี่ยงระดับกลางในการเกิดมะเร็งเต้านม
ในผู้ป่วยมีความเสี่ยงระดับกลางในการเกิดมะเร็งเต้านม จะแนะนำให้ส่งตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติมจากการเอกซเรย์เต้านมปกติในบางกรณีผู้ป่วยดังต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยมีความเสี่ยงระดับกลางในการเกิดมะเร็งเต้านม คือ มีความเสี่ยง 15-20% ในช่วงชีวิตของผู้ป่วย (lifetime risk of breast cancer >15-20%)
2.ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งเต้านมในท่อน้ำนม หรือมีเซลล์ผนังท่อน้ำนมที่ผิดปกติ
3.ผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมแน่น หรือไม่สามารถค้นหาความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์เต้านมปกติได้
ทำไมจึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในผู้ป่วยทุกราย
การตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในผู้ป่วยทั่วไป ไม่ได้แนะนำให้ทำทุกราย เนื่องจากการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นการตรวจที่ค่อนข้างละเอียดกว่าการตรวจเอกซเรย์เต้านมปกติ แต่ความละเอียดที่มากกว่านั้นอาจละเอียดมากเกินไปจนเกิดผลบวกลวง เช่น ในกรณีตรวจพบความผิดปกติสงสัยเป็นก้อนซึ่งไม่ได้เป็นก้อนมะเร็ง แต่ก่อให้เกิดความกังวลใจและนำไปสู่การเจาะชิ้นเนื้อหรือส่งตรวจอื่นๆในที่สุด นอกจากนั้นการตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าการตรวจเอกซเรย์เต้านมปกติอีกด้วย
การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการวินิจฉัยและติดตามมะเร็งเต้านม (Breast MRI for diagnosis and monitoring)
การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นเป็นการตรวจที่ค่อนข้างละเอียด บางรังสีแพทย์เชื่อว่าสามารถตรวจแยกมะเร็งเต้านมออกจากเนื้อเต้านมปกติได้ แต่ราคาค่อนข้างสูงและมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญอยู่ในปริมาณไม่มาก นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีเหล็กอยู่ในตัวผู้ป่วย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีดังกล่าวได้ แต่การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม จึงแนะนำให้ส่งตรวจในกรณีดังต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยที่คลำพบก้อนที่เต้านม แต่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์เต้านมปกติ หรืออัลตร้าซาวด์เต้านมได้
2.ผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมที่ค่อนข้างแน่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ยังสาว ซึ่งเต้านมยังค่อนข้างแน่น จึงทำให้ยากในการตรวจพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์ทั่วไป
3.ในกรณีที่ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต โดยที่ตรวจไม่พบก้อนที่เต้านม ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นจะทำให้สามารถค้นพบความผิดปกติเล็กๆในเต้านม และสามารถทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เช่นการผ่าตัดสงวนเต้านมร่วมกับการฉายรังสี เป็นต้น
4.ใช้ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบหลายตำแหน่ง ซึ่งปกติแนวทางในการรักษาคือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะทำให้สามารถประเมินตำแหน่งของมะเร็งเต้านมที่ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งเต้านมแบบหลายตำแหน่งจริงหรือไม่ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการผ่าตัดแก่ผู้ป่วย
5.ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ถุงเต้านมเทียมมาก่อน การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยในการวินิจฉัยว่ามีซีลีโคนรั่วออกมานอกถุงเต้านมเทียมหรือไม่
นอกจากนี้หลังการรักษามะเร็งเต้านมนั้น การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นจะช่วยในการตรวจการกลับมาเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เคยได้รับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในตำแหน่งอื่นๆของร่างกาย เช่น สมอง กระดูก และไขสันหลัง ก็มีประโยชน์ เพื่อเป็นการช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณดังกล่าวหากผู้ป่วยมีอาการ