การผ่าตัด ตอนที่ 5: การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม (Prophylaxis Mastectomy)
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute) พบว่าในสตรีที่ตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 นั้น การผ่าตัดเต้านมออกสามารถลดความโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ถึง 95% หรือในสตรีที่มีประวัติครอบครัวที่มีความเสี่ยงนั้น การผ่าตัดเต้านมออกก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมลงได้ถึง 90%
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคตได้ แต่การผ่าตัดเต้านมออกก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก และไม่ได้มีคำแนะนำสำหรับการผ่าตัดในบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยง โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรพิจารณาการผ่าตัดเต้านมออก ได้แก่
ผู้ป่วยที่ไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ได้แก่
- • ผู้ที่ตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1, BRCA2, PALB2, CDH1, PTEN หรือ TP53 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
- • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มีความเสี่ยง คือ มีสมาชิกในครอบครัวสายตรง (เช่น มารดา พี่/น้องสาว หรือบุตรสาว) มากกว่า 1 คน เป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย (น้อยกว่า 50 ปี)
- • ผู้ที่มีประวัติได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้างนั้น มีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในอีกข้างที่สูงขึ้น
- • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นชนิด Lobular Carcinoma in Situ (LCIS) นั้นมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้น
- • ผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอกก่อนอายุ 30 ปี จะมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
แต่ถึงแม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่ว่ามานั้น จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้นกว่าบุคคลทั่วไป แต่มีเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนเท่านั้น ที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนของการผ่าตัดเต้านมออกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง สำหรับในกลุ่มอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผลดีที่ได้รับจากการผ่าตัดเต้านมออกเพื่อป้องกันมะเร็งนั้นยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ถึงผลดีและผลเสียของการผ่าตัด
การผ่าตัดรังไข่ออกเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม (Prophylaxis Oophorectomy)
เป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเพศหญิงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงแสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดรังไข่ออก สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูง ข้อมูลจากสถานบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดรังไข่ออกสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมลงได้ถึงกว่า 50% หากได้รับการผ่าตัดก่อนวัยหมดประจำเดือน และลดโอกาสการเกิดมะเร็งรังไข่ลงได้ถึง 90% ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 โดยมะเร็งรังไข่นั้น เป็นโรคมะเร็งที่ยังไม่มีการตรวจคัดกรองที่เชื่อถือได้ ทำให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่นั้นค่อนข้างยาก และผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อระยะของโรคเริ่มลุกลามมากแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดรังไข่ออก อาจทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า และความรู้สึกทางเพศลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อมวลกระดูก และหัวใจได้ และแน่นอนว่าการผ่าตัดนำรังไข่ออกย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีบุตร
โดยทั่วไปแล้วสตรีที่มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมสูง ย่อมมีความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่สูงด้วย ซึ่งควรได้รับการปรึกษาแพทย์เพื่อส่งตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติมต่อไป เช่นเดียวกับการพิจารณาการผ่าตัดเต้านมออกเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพิจารณาการผ่าตัดรังไข่ออก ได้แก่
- • ผู้ที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 แนวทางการรักษาโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเข้ารับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างเมื่ออายุ 35-40 ปี หรือเมื่อมีบุตรเพียงพอแล้ว หรือในรายที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA2 นั้น แนะนำให้ทำการผ่าตัดรังไข่ออกเมื่ออายุ 40-45 ปี
- • ผู้ที่มีญาติสายตรง (เช่น มารดา พี่/น้องสาว หรือบุตรสาว) เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี
- • ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี
- • ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย (20-40 ปี หรือก่อนวัยหมดประจำเดือน) ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่สูงขึ้น
นอกเหนือไปจากกลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้กล่าวมาแล้ว การผ่าตัดรังไข่ออกเพื่อป้องกันมะเร็งนั้นยังอาจพิจารณาเป็นทางเลือกของการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ได้ อาทิเช่น
- • ผู้ที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน BRCA แต่ไม่ต้องการต้องการผ่าตัดเต้านมออกด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม การผ่าตัดรังไข่ออกก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมลงได้เช่นกัน
- • ผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่ อาจพิจารณาปรึกษาแพทย์เรื่องความเหมาะสมของการผ่าตัด เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
- • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในวัยก่อนหมดประจำเดือน ที่มีความจำเป็นต้องทานยาต้านฮอร์โมนร่วมกับการใช้ยาเพื่อกดการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ เช่น Goserelin หรือ Leuprolide ในบางกรณีแพทย์ผู้รักษาอาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดรังไข่ออก เพราะเป็นการช่วยลดการทำงานของรังไข่ที่แน่นอนกว่าการฉีดยา
การบำบัดด้วยความเย็นจัด (Cryotherapy)
Cryotherapy หรือ Cryosurgery นั้น คือการอาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัดในการแช่แข็ง และทำลายเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการบรรเทาความเจ็บปวด และหยุดเลือดที่กำลังออกได้ โดยหลักการของการใช้ความเย็นในการรักษา คือ การที่เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย รวมถึงเซลล์มะเร็งนั้นมีน้ำเป็นองค์ประกอบภายในเซลล์ การใช้ความเย็นจัดจะทำให้น้ำภายในเซลล์ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของผลึกน้ำแข็ง และทำให้เซลล์ตายลงไปในที่สุด การรักษาจะใช้เข็มขนาดเล็กเรียกว่า Cryoprobes ในการฉีดสารไนโตรเจนเหลว หรือใช้ก๊าซอาร์กอนเข้าไปในบริเวณก้อนมะเร็งโดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถอาศัยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasonography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อเป็นตัวช่วยในการนำทางเข็ม Cryoprobes เพื่อทำการรักษาก้อนมะเร็งที่อยู่ลึกได้อีกด้วย โดยการรักษาส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยการใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ หรือยานอนหลับเท่านั้น
การบำบัดด้วยความเย็นจัดนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น การใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อรักษามะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้นบางชนิด นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระดูกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการบำบัดด้วยความเย็นจัดในการรักษามะเร็งเต้านมนั้นยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล และการศึกษาวิจัยเท่านั้น