การผ่าตัด ตอนที่ 3: การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction)
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า แล้วทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมเพิ่ม ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำไปพร้อมกับการผ่าตัดเต้านม หรือหลังผ่าตัดเต้านมแล้ว โดยผู้ป่วยสามารถเลือกใช้ซิลิโคน (Implant Reconstruction) เนื้อเยื่อตนเอง (Autologous Reconstruction) หรือใช้ร่วมกันทั้งสองอย่าง เพื่อทำการเสริมเต้านมก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและดุลพินิจของศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่ไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ได้แก่
- • ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว
- • ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
- • ผู้ป่วยที่กังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ต้องใช้เพื่อการเสริมสร้างเต้านม
- • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างเต้านม
เมื่อไรถึงทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
1. ทำทันทีขณะผ่าตัดมะเร็งเต้านม
การเสริมสร้างเต้านมทันทีขณะผ่าตัดมะเร็งเต้านม มีข้อดีคือ สามารถทำในการผ่าตัดครั้งเดียว โดยไม่ต้องมาดมยาสลบหลายรอบ และมีความสวยงามมากกว่าทำหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้ว แต่จะต้องคัดเลือกผู้ป่วยที่มีความเหมาะสม
2. ทำหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้ว
มักจะทำในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมที่จะทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมทันทีขณะผ่าตัดมะเร็งเต้านม หรือผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ทั้งนี้ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้ว มีความซับซ้อนมากกว่าการเสริมสร้างเต้านมทันทีขณะผ่าตัดมะเร็งเต้านม โดยอาจจะต้องทำการผ่าตัดหลายรอบ และความสวยงามอาจไม่เท่ากับการเสริมสร้างเต้านมทันทีขณะผ่าตัดมะเร็งเต้านม ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดคือ หลังหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้ว 6-12 เดือนขึ้นไป หรือหลังจากให้เคมีบำบัดและฉายแสงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกทั้งเต้า
1. ระยะของโรคมะเร็ง ถ้าเป็นระยะเริ่มแรกอาจทำผ่าตัดได้เร็วกว่าระยะลุกลาม เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องฉายแสง หรือได้รับยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่า
2. สุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่สุขภาพไม่ดี หรือมีโรคประจำตัว จำเป็นที่ต้องรักษาตัวเพื่อควบคุมโรคที่เป็นอยู่ให้คงที่ หรือดีขึ้นจนพร้อมที่จะผ่าตัดได้ ซึ่งอาจใช้เวลานาน
การคัดกรองมะเร็งเต้านมหลังจากการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม 1 ข้าง แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมข้างที่เหลือด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ตามปกติ ส่วนเต้านมที่เสริมสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าทั้งสองข้างและทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ แต่อาจพิจารณาทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์หลังผ่าตัด เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจครั้งต่อไป ซึ่งการตรวจครั้งต่อไปก็ใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายก็เพียงพอ
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดสงวนเต้านมและทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ทั้งเต้านมที่เสริมสร้างและเต้านมข้างที่เหลือ
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
องค์การอาหารและยา แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลังจากผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม 3 ปี หลังจากนั้นให้ทำทุก 2 ปี การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถให้รายละเอียดที่ดีกว่าแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ แต่ก็มีผลบวกลวงที่สูง จึงแนะนำให้ใช้เป็นบางกรณี การแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมหลังจากการเสริมสร้างเต้านมแนะนำให้ทำหลังผ่าตัดอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังจากผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
- • ภาวะเนื้อเยื่อไขมันตาย (Fat Necrosis) ผู้ป่วยจะมีอาการก้อนแข็งเกิดขึ้น ซึ่งก้อนจะมีขนาดคงที่หรือขนาดเล็กลงเมื่อติดตามดูอาการ การวินิจฉัยจะอาศัยการการซักประวัติและตรวจร่างกาย แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ และการเจาะชิ้นเนื้อ
- • ภาวะซิลิโคนหดตัว (Capsular Contracture) ผู้ป่วยจะมีอาการเต้านมแข็งตึงและเจ็บได้ เมื่อตรวจร่างกายอาจพบว่าเต้านมมีการผิดรูป ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณรอบซิลิโคนเกิดการดึงรั้ง