
การผ่าตัด ตอนที่ 2: การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy)
การผ่าตัดนำเนื้อเต้านมออกทั้งหมด ปัจจุบันแบ่งออกเป็น
1. Simple or Total Mastectomy
ในอดีตนั้น มาตรฐานการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม มักจะเป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ในระดับที่ 1-2 หรือ 3 ออก จึงมีชื่อเรียกของเทคนิคการผ่าตัดที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1.1 Modified Radical Mastectomy: วิธีนี้เป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ในระดับที่ 1-2 ออกไปด้วย โดยไม่มีการผ่าตัดกล้ามเนื้อหน้าอกบริเวณใต้เต้านมออก โดยทั่วไปมักใช้วิธีการผ่าตัดชนิดนี้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและมีการตรวจพบเซลล์มะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ตั้งแต่แรกเริ่ม
1.2 Radical Mastectomy: เป็นการผ่าตัดที่มีขอบเขตการผ่าตัดกว้างขึ้น โดยเป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ในระดับที่ 1-3 รวมทั้งผ่าตัดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกใต้เต้านมออกไปด้วย มักใช้วิธีการผ่าตัดชนิดนี้กับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าก้อนมะเร็งเต้านมลุกลามมาที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ในปัจจุบัน การผ่าตัดชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยลงเนื่องจากประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งของการผ่าตัดแบบ Modified Radical Mastectomy ได้ผลเท่าเทียมกัน แต่ผ่าตัดเนื้อเยื่อโดยรอบออกน้อยกว่า
2. Skin-sparing Mastectomy
เป็นการตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด โดยพยายามเก็บผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเทคนิคนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งชนิด Simple Mastectomy หรือ Modified Radical Mastectomy โดยการเก็บผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ เพื่อการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ในขั้นตอนต่อมา ในการผ่าตัดวิธีนี้ แพทย์จะผ่าตัดผิวหนังบริเวณเต้านมในส่วนของหัวนมและลานนม รวมถึงแผลผ่าตัดชิ้นเนื้อก้อนเต้านมออก (Biopsy Scar) หลังจากนั้นจะตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมดผ่านแผลบริเวณหัวนมและลานนม โดยพยายามเก็บผิวหนังส่วนที่เหลือไว้ เพื่อช่วยคงรูปเต้านมในขั้นตอนของการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ซึ่งอาจทำโดยการใส่เต้านมเทียมสังเคราะห์ หรือนำเนื้อเยื่อของผู้ป่วยในตำแหน่งอื่นมาทำการสร้างเต้านมเทียมในการผ่าตัดครั้งเดียวกันการผ่าตัดชนิดนี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการเสริมสร้างเต้านมในทันทีหลังผ่าตัดเต้านมออก หรือในกรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่ใกล้เต้านม และพบว่ามีเซลล์มะเร็งลุกลามมาบริเวณผิวหนังของเต้านมที่ต้องการเก็บไว้ เช่น กรณีก้อนมะเร็งเต้านมที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย (Inflammatory Breast Cancer)
3. Nipple-sparing Mastectomy (Subcutaneous Mastectomy)
เป็นการผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด โดยพยายามเก็บหัวนม ลานนม และผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ โดยในการลงแผลผ่าตัดอาจทำได้หลายแบบ เช่น เปิดแผลผ่าตัดบริเวณใต้ราวนม บริเวณหัวนม หรือแผลผ่าตัดแบบตรงขนานลำตัว โดยในการผ่าตัดชนิดนี้จำเป็นต้องมีการส่งตรวจชิ้นเนื้อบริเวณใต้หัวนมและลานนม เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ ซึ่งถ้าหากตรวจพบเซลล์มะเร็งบริเวณนี้ จะไม่สามารถเก็บเนื้อเยื่อบริเวณหัวนมและลานนมไว้ได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบ Skin-sparing Mastectomy วิธีการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการเก็บผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ เพื่อรองรับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในขั้นตอนต่อไป การผ่าตัดชนิดนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งไม่ลุกลาม หรือมะเร็งอยู่ห่างจากหัวนมและลานนม รวมถึงผิวหนังเต้านม ในกรณีที่ก้อนมะเร็งเต้านมมีการอักเสบร่วมด้วย (Inflammatory Breast Cancer) จะไม่สามารถทำการผ่าตัดชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัย
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
ก่อนการผ่าตัด
- • ในวันที่ทำการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมตัวและพาไปบริเวณห้องผ่าตัด
- • แพทย์และพยาบาลจะทำเครื่องหมายบริเวณแผลผ่าตัด
- • ผู้ป่วยจะได้รับการพาไปบริเวณห้องดมยาสลบ ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะทำการให้ยาผ่านทางเส้นเลือดบริเวณแขน จากนั้นจะเริ่มให้ดมยาสลบ
ระหว่างผ่าตัด
- • โดยทั่วไป การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วยจะใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น
- • แผลผ่าตัดนั้น ขึ้นอยู่กับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดที่ผู้ป่วยและแพทย์เลือก
- • แพทย์จะทำการผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งมักทำร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองแบบเซนทิเนล หรือการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด ตามแผนการรักษา
- • หากมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย จะทำหลังจากผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมดแล้ว
- • แพทย์จะตรวจสอบห้ามเลือดบริเวณที่ผ่าตัดร่วมกับใส่สายระบายไว้ในบริเวณที่ผ่าตัดเพื่อป้องการไม่ให้เกิดของเหลวคั่ง
- • หลังจากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผลและทำแผลต่อไป
หลังการผ่าตัด
- • หลังจากผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยจะถูกนำไปห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการใช้ยาชาหรือดมยาสลบ และติดตามผลจากการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะได้รับการวัดสัญญาณชีพเป็นระยะๆ ในขั้นตอนนี้ หากผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วมีอาการปวด ก็สามารถแจ้งแพทย์ที่ดูแลเพื่อขอยาบรรเทาอาการปวดได้
- • โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน หากมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วยอาจต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานขึ้น
- • ในการทำกายภาพหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีการทำกายภาพหรือบริหารบริเวณช่วงแขนและข้อไหล่เพื่อป้องกันภาวะข้อไหล่ติด สำหรับบริหารแขนข้างที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเริ่มทำการบริหารได้ในเช้าวันถัดไปหลังจากผ่าตัด ในกรณีที่มีสายระบาย แต่ในการเคลื่อนไหวหรือบริหารบางอย่างอาจต้องมีข้อจำกัดซึ่งแพทย์จะแนะนำเพิ่มเติม
- • ก่อนออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลหลังการผ่าตัดดังนี้
- • แนะนำเรื่องการทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ
- • การดูแลแผลหลังผ่าตัด
- • การดูแลสายระบาย แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลรักษา โดยในบางรายแพทย์อาจนำสายระบายออกให้ก่อนกลับบ้าน หรือในบางรายแพทย์อาจยังไม่นำสายระบายออกแต่นัดผู้ป่วยมาติดตามอาการอีกครั้ง โดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยใส่สายระบายไว้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- • ในการเย็บแผลผ่าตัดนั้น โดยทั่วไปใช้ไหมละลายในการเย็บแผล ซึ่งในบางครั้งอาจพบมีปลายไหมยื่นออกมาบริเวณแผลผ่าตัดได้ โดยแพทย์สามารถนำออกได้ตามปกติ
- • โปรดสังเกตอาการของบาดแผล หากมีความผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์
- • ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย ให้สังเกตอาการน้ำเหลืองคั่งบริเวณแขน (Lymphedema)
- • ในการผ่าตัดเต้านมออก โดยเฉพาะในรายที่มีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย ในช่วงแรกๆ หลังการผ่าตัด แพทย์อาจไม่แนะนำให้ใส่ชุดชั้นใน ทั้งนี้ ให้ถามรายละเอียดกับแพทย์ผู้ดูแลเป็นกรณีๆ ไป
การพักฟื้นที่บ้าน
- • การพักฟื้นหลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น หากมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย
- • ในช่วงแรกหลังจากกลับบ้าน แนะนำให้พักฟื้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียจากการผ่าตัด
- • ทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ (ตามคำแนะนำแพทย์)
- • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลผ่าตัดหรือสายระบายโดนน้ำ
- • หลังวันผ่าตัด ให้เริ่มทำกายภาพบำบัดในเช้าวันถัดไป และทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์
- • ในระยะแรก คุณอาจต้องการความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวในการใช้ชีวิตประจำวัน
- • หลังการผ่าตัดหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัดจะเริ่มฟื้นฟู ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเจ็บหรือคันบริเวณแผลผ่าตัด หรือมีความไวต่อการถูกสัมผัสมากขึ้น อาการต่างๆ มักจะหายไปได้เอง แต่หากมีอาการมากขึ้นควรแจ้งแพทย์เพื่อให้ใช้ยาช่วยบรรเทาอาการ
ความเสี่ยงในการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
- • เช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหรือชาบริเวณแผลผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดให้ได้ขอบเขตที่ปราศจากเซลล์มะเร็งอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดโดนเส้นประสาทที่อยู่โดยรอบ
- • หลังการผ่าตัดระยะหนึ่ง บริเวณแผลผ่าตัดอาจมีความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น เนื่องจากเส้นประสาทเริ่มฟื้นฟู
- • การมีของเหลว เช่น เลือดหรือน้ำเหลืองคั่งบริเวณใต้แผลผ่าตัด โดยทั่วไปสามารถหายได้เอง แต่ในบางรายอาจต้องมีการเจาะดูดของเหลวออกมา
- • แผลผ่าตัดอาจหายช้ากว่าปกติได้ เนื่องจากการผ่าตัดเนื้อเต้านมออกจำเป็นต้องตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรอบๆ เนื้อเต้านมด้วย ในบางรายบริเวณแผลอาจมีเนื้อตายซึ่งสามารถตัดแต่งในภายหลัง
- • บาดแผลผ่าตัดมีโอกาสติดเชื้อได้ ควรสังเกตอาการอาการติดเชื้อ และหากมีอาการที่น่าสงสัยให้มาพบแพทย์การผ่าตัดมีความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นได้ โดยเฉพาะในรายที่ได้รับการฉายรังสีเพิ่มเติม หากเกิดปัญหาให้มาพบแพทย์