
การผ่าตัด ตอนที่ 1: การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักอย่างหนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม การตัดสินใจเรื่องการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยผู้ป่วยและแพทย์จะร่วมกันกำหนดแนวทางการรักษาและวางแผนการรักษาในระยะยาว เพื่อเลือกวิธีผ่าตัดที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคและความพึงพอใจของแต่ละบุคคล โดยจะต้องทำการวางแผนการรักษาในระยะยาว การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมประกอบด้วยการผ่าตัด 2 ส่วน ได้แก่
- • การผ่าตัดเต้านม แบ่งออกเป็น การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast-conserving Surgery) การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) และการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction)
- • การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แบ่งออกเป็น การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ (Axillary Lymph Node Dissection) และการผ่าตัดเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลบริเวณรักแร้ (Sentinel Lymph Node Dissection)
ในหัวข้อนี้จะเป็นการอธิบายการผ่าตัดชนิดต่างๆ ของเต้านมและรักแร้ รวมไปถึงการผ่าตัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast-Conserving Surgery)
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำก้อนที่เต้านมและเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ออก อาจมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น การผ่าตัดก้อนเต้านม (Lumpectomy) การผ่าตัดเต้านมบางส่วน (Partial Mastectomy) การผ่าตัดเต้านมออกแบบแบ่งส่วน (Quadrantectomy) เป็นต้น แต่ปริมาณการน้ำเนื้อเต้านมออกนั้นอาจแตกต่างกันไปตามความจำเป็น เช่น การผ่าตัดเต้านมออกแบบแบ่งส่วน (Quadrantectomy) หมายถึง การนำเนื้อเต้านมออก 1 ใน 4 ส่วน โดยประมาณ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยและแพทย์ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันในชนิดของการผ่าตัดและลักษณะแผลผ่าตัดที่จะเกิดขึ้น
การผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี (Lumpectomy Plus Radiation)
การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมโดยทั่วไป หมายถึง การผ่าตัดก้อนเต้านมออกร่วมกับการฉายรังสี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการฉายรังสีหลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งเต้านมออก เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจพบในเนื้อเต้านมที่เหลืออยู่ โดยในการฉายรังสีใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 สัปดาห์ ซึ่งหากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีจะทำหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2002 งานวิจัยจำนวน 2 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ ในวารสาร New England Journal of Medicine ระบุว่า ผู้ป่วยที่มะเร็งเต้านมที่มีขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่า 4 ซม. ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งเต้านมออกร่วมกับการฉายรังสี มีอัตราการปลอดโรคในระยะเวลา 20 ปีเทียบเท่ากับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
แต่ผู้ป่วยควรทราบด้วยว่า การผ่าตัดก้อนเต้านมออกร่วมกับการฉายรังสียังคงมีอัตราการเกิดมะเร็งเป็นซ้ำในเต้านมข้างเดียวกัน (ประมาณ 9% และ 14% ในงานวิจัยทั้ง 2 ฉบับ) อย่างไรก็ตามการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำมักมีขอบเขตอยู่ในบริเวณเต้านม ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และมีอัตราการปลอดโรคเทียบเท่ากับผู้ป่วยที่ผ่าตัดก้อนเต้านมออกร่วมกับการฉายรังสีในกลุ่มที่ไม่ได้มีโรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
ผู้ป่วยรายใดเหมาะกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม?
ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมจะเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในผู้ป่วยทุกราย การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม อาจไม่เหมาะกับกรณีต่างๆ เช่น
- • ผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีมาก่อน เพราะจะไม่สามารถฉายซ้ำในบริเวณเดิมได้
- • ในกรณีที่มีก้อนมะเร็งหลายตำแหน่งในเนื้อเต้านม มักมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
- • กรณีที่สัดส่วนของเต้านมของผู้ป่วยและก้อนมะเร็งมีขนาดไม่สัมพันธ์กัน หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ แต่เต้านมผู้ป่วยมีขนาดเล็ก การผ่าตัดก้อนออกอาจทำให้เต้านมผิดรูปร่างได้
- • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาขอบเขตของก้อนที่เพียงพอต่อการรักษามะเร็งได้
- • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น Connective Tissue Disease หรือ Vasculitis ซึ่งมีความไวต่อการฉายรังสี
- • ผู้ป่วยตั้งครรภ์ (ห้ามฉายรังสี)
- • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับการฉายรังสีได้หลังผ่าตัดก้อนออก
- • ผู้ป่วยเลือกที่จะผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
ข้อควรรู้ในการผ่าตัดสงวนเต้านม
ก่อนการผ่าตัด
- • ในวันที่ทำการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมตัวและพาไปบริเวณห้องผ่าตัด
- • ในกรณีที่ไม่สามารถคลำก้อนมะเร็งได้ชัดเจน แพทย์จะใช้เครื่องมือในการกำหนดตำแหน่ง หรือทำเครื่องหมายบริเวณก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด เช่น การใช้เครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
- • แพทย์และพยาบาลจะทำเครื่องหมายบริเวณแผลผ่าตัด
- • ผู้ป่วยจะถูกพาไปบริเวณห้องดมยาสลบ จากนั้นแพทย์และพยาบาลจะทำการให้ยาผ่านทางเส้นเลือดบริเวณแขน และจะให้ยาชา โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ แต่ในบางรายก็อาจต้องดมยาสลบ
ระหว่างการผ่าตัด
- • ระยะเวลาการผ่าตัดโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 15-40 นาที
- • แพทย์อาจใช้วิธีการจี้ไฟฟ้าเพื่อทำการผ่าตัดและห้ามเลือด
- • แพทย์ส่วนใหญ่มักลงแผลผ่าตัดตามแนวโค้งตามธรรมชาติของเต้านม เพราะหลังจากแผลหายจะมีความสวยงามกว่า
- • แพทย์จะผ่าตัดก้อนและเนื้อเต้านมรอบๆ ก้อนออกบางส่วนเพื่อให้ได้ขอบเขตการรักษา
- • ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการใส่สายระบายหลังผ่าตัดก้อนออก เพื่อป้องกันการเกิดของเหลวคั่งใต้แผลผ่าตัด
หลังการผ่าตัด
- • หลังจากผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยจะถูกนำไปห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการใช้ยาชาหรือดมยาสลบ และติดตามผลจากการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะได้รับการวัดสัญญาณชีพเป็นระยะๆ
- • หลังจากนั้น หากผู้ป่วยอาการดีขึ้น ก็อาจจะพิจารณาให้กลับบ้านได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย ควรนอนค้างเพื่อสังเกตอาการต่อที่โรงพยาบาล
- • หากผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ แพทย์และพยาบาลจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาและการสังเกตอาการหลังกลับบ้าน
- • แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวดแก่ผู้ป่วยกลับไปด้วย แต่ในบางรายผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย
- • แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลแผลหลังผ่าตัดไปจนถึงวันนัดครั้งต่อไป
- • สำหรับผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องมีสายระบายหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลรักษา โดย แพทย์อาจนำสายระบายออกให้ก่อนกลับบ้าน หรือในบางราย แพทย์อาจยังไม่นำสายระบายออกแต่นัดผู้ป่วยมาติดตามอาการอีกครั้ง โดยทั่วไปสายระบายจะถูกใส่ไว้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- • ในการเย็บแผลผ่าตัดนั้น โดยทั่วไปใช้ไหมละลายในการเย็บแผล ซึ่งในบางครั้งอาจมีปลายไหมยื่นออกมาบริเวณแผลผ่าตัด โดยแพทย์สามารถนำออกได้ตามปกติ
- • ในการทำกายภาพหลังผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำวิธีการทำกายภาพหรือบริหารบริเวณช่วงแขนและข้อไหล่เพื่อป้องกันภาวะข้อไหล่ติด สำหรับบริหารแขนข้างที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเริ่มทำการบริหารได้ในเช้าวันถัดไปหลังจากผ่าตัด ในกรณีที่มีสายระบาย แต่ในการเคลื่อนไหวหรือบริหารบางอย่างอาจต้องมีข้อจำกัดซึ่งแพทย์จะแนะนำเพิ่มเติม
- • โปรดสังเกตอาการของบาดแผล หากมีความผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์
- • หลังกลับบ้าน ผู้ป่วยควรพักฟื้นที่บ้าน 2-3 วันหลังการผ่าตัด
คำแนะนำในการดูแลตนเอง
- • เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียจากการผ่าตัด ในช่วงแรกหลังการ่าตัด จึงควรพักฟื้นให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่
- • ทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ (ตามคำแนะนำของแพทย์)
- • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลผ่าตัดหรือสายระบายโดนน้ำ
- • ใส่เสื้อชั้นในแบบพยุงเต้านมเพื่อลดการดึงรั้งบริเวณแผลผ่าตัด
- • เริ่มทำกายภาพบำบัดในเช้าวันถัดไปหลังจากผ่าตัด (ตามคำแนะนำของแพทย์)
- • หลังการผ่าตัดหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัดจะเริ่มฟื้นฟู ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเจ็บหรือคันบริเวณแผลผ่าตัด หรือมีความไวต่อการถูกสัมผัสมากขึ้น อาการต่างๆ มักหายไปได้เอง แต่หากมีอาการมากขึ้น ควรแจ้งแพทย์เพื่อใช้ยาช่วยบรรเทาอาการ
การผ่าตัดซ้ำ
หลังการผ่าตัดแพทย์จะส่งก้อนให้พยาธิแพทย์ตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่พบเซลล์มะเร็งในขอบเขตของการผ่าตัด แต่หากตรวจพบเซลล์มะเร็งในขอบเขตการผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดซ้ำ เพื่อให้ได้ขอบเขตที่กว้างขึ้น เป้าหมายของการผ่าตัดซ้ำก็เพื่อให้ได้ขอบเขตการผ่าตัดที่ปลอดจากเซลล์มะเร็ง โดยขอบเขตของการผ่าตัดที่ถือเป็นมาตรฐานตามสมาคมศัลยแพทย์และรังสีรักษาโรคมะเร็งของอเมริกาใน ปีพ.ศ. 2557 ระบุว่า การผ่าตัดที่ไม่พบเซลล์มะเร็งบริเวณขอบเขตของการผ่าตัดก้อนมะเร็ง ถือว่ามีความปลอดภัย
ความเสี่ยงของการผ่าตัดสงวนเต้านม
เช่นเดียวกับการผ่าตัดเต้านมชนิดต่างๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการชา หรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณที่ทำการผ่าตัดก้อนเต้านมออกได้ ขึ้นอยู่กับขนาดก้อนมะเร็งและขอบเขตการผ่าตัด ซึ่งในผู้ป่วยบางราย อาจมีความรู้สึกกลับมาได้เมื่อเวลาผ่านไป
การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วนอาจทำให้เต้านมผิดรูปหรือไม่สมมาตรกับเต้านมอีกข้างหนึ่งได้ และหลังการผ่าตัดในช่วงแรก เนื้อเยื่อบริเวณแผลผ่าตัดอาจมีอาการบวมจากการบาดเจ็บ แต่หลังจากแผลเริ่มหาย ลักษณะของเต้านมบริเวณที่ผ่าตัดอาจดูเล็กลงหรือผิดรูป จึงอาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมส่วนที่หายไปในภายหลัง