สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย - ภาพแรกในวันนั้น ภาพร่างในวันนี้ และภาพสุดท้ายในอีกสิบปี
วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.พญ. เยาวนุช คงด่าน อุปนายกสมาคมโรคเต้านมคนปัจจุบัน ถึงที่มา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรูปแบบของชมรม จนถึงปัจจุบันที่อยู่ในรูปแบบของสมาคมและมีสมาชิกและกรรมการที่เป็นแพทย์จากหลายสาขา ไม่จำกัดเฉพาะศัลยแพทย์เหมือนในช่วงแรก
วันแรกที่ก่อตั้งชมรม อาจารย์เยาวนุชเป็นเลขาชมรม ผ่านไป 15 ปี ปัจจุบัน อาจารย์เยาวนุชเป็นอุปนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย มุมมองต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายอย่างที่น่าสนใจ เราจึงอยากนำบทสนทนาในวันนั้นมาแบ่งปันกัน
“หมอมองว่า... องค์ประกอบสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมต้องมีสามด้าน หนึ่งคนไข้ สองแพทย์ที่จะรักษา และสาม ทรัพยากรโดยรอบที่เกี่ยวข้อง หรือ Resource ทั้งโรงพยาบาล เครื่องไม้เครื่องมือ คนที่จะมาช่วยสนับสนุน หรือ Third Party นโยบายรัฐบาล ทั้งสามด้านนี้ต้องไปด้วยกัน ถ้าเราโฟกัสไปทางใดทางหนึ่งเนี่ย มันจะเป็นไปได้ยากที่จะสำเร็จ…” อาจารย์เปิดภาพแรกให้เราเห็นตั้งแต่เริ่มสนทนา
“ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มะเร็งเต้านมอาจเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจกันเท่าไรนัก ตอนที่เริ่มต้นชมรม ศัลยแพทย์ก็มองว่ามะเร็งเต้านมเป็นการผ่าตัดง่ายๆ ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน การรักษาจะไม่ได้มีความหลากหลายนัก เพราะแต่ก่อนองค์ความรู้ไม่ได้เยอะ ตอนนั้นมองว่าคนไข้เหมือนกับโชคชะตาชีวิตลิขิตมาว่า คุณอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะมีช่องว่างในการรักษาอยู่ หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในการรักษาอยู่ เช่น รักษากับทางโรงเรียนแพทย์ก็จะได้รับการรักษาแบบหนึ่ง กับโรงพยาบาลขนาดเล็กในต่างจังหวัดก็อีกแบบหนึ่งอย่างสุดขั้ว เหมือนกับว่ารักษาจากคนละประเทศเลย หรือถ้าเราไปโรงพยาบาลจังหวัดที่คุณหมอมีการอัพเดตความรู้ การรักษาก็จะเหมือนกับรักษากับโรงเรียนแพทย์เช่นกัน” อาจารย์ขยายภาพให้เราเห็น พร้อมหมายเหตุให้เราฉุกคิดต่อว่า…
“การที่อยู่ในกรุงเทพก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ความรู้โรคมะเร็งเต้านมไปไวมาก ถึงอยู่กรุงเทพ แต่เกิดไปโรงพยาบาลที่หมอไม่เท่าทันวิชาการ ก็อาจได้รับการรักษาที่ไม่ดี ศักยภาพในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของแพทย์และสถานพยาบาลด้วย”
“ดังนั้น เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราจึงโฟกัสไปที่แพทย์เป็นหลัก คือ ทำอย่างไรให้แพทย์มีความรู้เท่ากัน ใกล้เคียงกัน อาจารย์โรงเรียนแพทย์ไปประชุมมา อ่านหนังสือมา ก็มาอัพเดตกัน เราก็จัดประชุมกันปีละครั้ง มีประชุม Inter-hospital คือ ระหว่างโรงพยาบาล เอาเคสที่น่าสนใจมาคุยกันอย่างสม่ำเสมอ จนโรคมะเร็งเต้านมเป็นที่รับรู้ที่สนใจ ตระหนักว่าไม่ใช่โรคง่ายๆ เหมือนสมัยก่อน มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาต่อยอดมาทำเป็นหลักสูตร จากวันแรกที่เราจัดประชุม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของแพทย์ค่อนข้างเยอะ มีความรู้ทางโรคเต้านมมากขึ้น อัพเดตขึ้น ดูได้จากหัวข้อการจัดประชุมครั้งแรก กับปัจจุบัน เนื้อหาต่างกันมาก คือ ลึกซึ้งขึ้นเยอะเลย”
งานที่ร่วมบุกเบิกมาและดูแลอย่างต่อเนื่องมาตลอด 15 ปี ได้ผลเป็นรูปธรรมที่น่าภูมิใจเลยทีเดียว แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ “ก่อนหน้านี้ที่เราจัดประชุมขึ้นมานั้น เราเหมือนเอาองค์ความรู้ที่ต่างชาติทำไว้ มาถ่ายทอด แต่ที่สำคัญกว่าคือ องค์ความรู้ของเราต่างจากฝรั่งหรือเปล่า? ดังนั้น เราจึงอยากกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยขึ้นมา จากการเก็บข้อมูลของคนไทย คือ มีการทำ Tumor Registry คือ การบันทึกข้อมูลคนไข้ ต้องบอกว่า... นี่เป็นงานที่ยากมาก สมาคมเองก็ให้การสนับสนุนอยู่ หรือหากแพทย์ท่านใดมีไอเดียที่อยากทำงานวิจัยอื่นๆ ก็เข้ามาคุยกับสมาคมได้เราพร้อมให้การสนับสนุน”
“ในส่วนของการให้ความรู้เพื่อลดช่องว่างทางความรู้ของแพทย์นั้น พอเราสนับสนุนไปถึงระดับหนึ่งแล้ว งานวิจัยคือเรื่องที่ตามมา เราจับประเด็นอย่างนั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นงานหนักและท้าทายสมาคมพอสมควร เพราะงานวิจัยของคนไทยที่มียังไม่มากพอ”
“นอกจากงานวิจัยแล้ว อีกเรื่องที่เราต้องทำคือ ในแง่ Resource หรือ Policy” อาจารย์กล่าวถึงงานอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน
“จริงๆ อาจารย์วิชัย (พลโท รศ.นพ.วิชัย วาสนศิริ นายกสมาคมฯ คนก่อน) ก็มีส่วนเข้าไปผลักดันเชิงนโยบายของโครงการ 30 บาท และเราก็ส่ง Resource Person อาจารย์แพทย์ที่มีความรู้ เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของสถาบันมะเร็ง โครงการ 30 บาท และโครงการอื่นๆ เป็นต้น และตอนนี้เราก็ต่อยอดออกไป คือ ในอีกสิบปีข้างหน้า ทำอย่างไรอัตราการตายของคนไข้มะเร็งเต้านมจะลดลง เราก็จะทำโครงการที่ประสานให้ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในเรื่องของมะเร็งเต้านมในเมืองไทยมาร่วมมือกัน ทั้งหมอเฉพาะทางทุกๆ สาขา องค์กรที่เกี่ยวข้อง กลุ่มคนไข้ เพื่อไปผลักดันให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่จะผลักดันเรื่องต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
เรื่องที่สามนี่ ถือว่าสำคัญมาก เป็นขาที่สามที่สมาคมคาดหวัง เหมือนไม้ค้ำยันต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ในทีนี้ก็คือคุณภาพของการรักษาคนไข้ จำเป็นต้องมีไม้ค้ำยัน ไม่มีต้นไม้ไหนใช้ไม้ค้ำสองท่อนได้… ต้องสามท่อน
ไม้แรกการขับเคลื่อนโดยคนไข้ ที่ผ่านมาไม่มากพอ
ไม้สองการขับเคลื่อนโดยแพทย์ก็ไม่มากพอเช่นกัน
ไม้ที่สาม คือ การขอแรงสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งตัวองค์กร นโยบายต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ในฐานะคนนอก เรามองว่าคุณภาพการรักษาที่ถูกขับเคลื่อนโดยคนไข้และแพทย์ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว อาจารย์จึงช่วยอธิบายให้เห็นภาพว่า
“แต่ก่อนมะเร็งเต้านม เวลารักษา คนไข้ต้องถูกเลาะต่อมน้ำเหลืองหมด แต่พอหมอมีความรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเลาะทั้งหมด หาแค่ต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกด้วยวิธีฉีดเม็ดสีเข้าไปเพื่อหาต่อมน้ำเหลืองที่ว่า แล้วผ่าเอาออกก็พอ กรณีนี้ ถึงแม้ว่าหมอจะรู้จักวิธีนี้ แต่ถ้าโรงพยาบาลไม่มีหมอพยาธิ หรือไม่มีแม้แต่เม็ดสี ซึ่งจริงๆ เม็ดสีไม่แพง และสมาคมเคยทำเม็ดสีแจก แต่ก็ติดตรงข้อกฏหมายที่ต้องขออย. ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก เห็นไหม แพทย์มีความรู้ แต่ Resource ไม่ได้ Policy ไม่ไป (ด้วย) ถ้าจะทำให้เกิดก็ต้องมีแรงไปผลักดัน นี่เป็นตัวอย่าง” เราฟังแล้วอ๋อ เออ ใช่ ในทันทีและพาลให้เราเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกรณีมะเร็งเต้านมด้วย เช่น การทำงานที่ไม่สอดประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของระบบราชการ
“นี่คือเรื่องที่สาม ที่หมอมองว่าในทศวรรษหน้า สมาคมต้องกลับมาทำในเรื่องนี้” อาจารย์ย้ำ และฉายภาพซ้ำอีกตัวอย่าง “อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นภาพรวม เช่น การวินิจฉัย เราจะวินิจฉัยอย่างไรให้เจอตั้งแต่ต้นๆ ให้คนไข้เข้าถึงได้ง่าย และการวินิจฉัยเป็นไปได้เร็ว การรักษาก็จะจบที่การผ่าตัด และอาจจะเป็นการประหยัดงบประมาณ ในขณะที่เราไปโฟกัสกันที่ปลายน้ำ ยาตัวนี้แพงไม่ให้ใช้ ให้ใช้แต่ยาถูกๆ แต่ไม่มีใครกลับมาดูตอนต้นว่า ทำยังไงไม่ให้เค้าป่วยจนต้องใช้ยาล่ะ ตัดไฟแต่ต้นลม วินิจฉัยให้เร็ว และผ่าตัดจะได้จบ ค่าวินิจฉัยอาจจะถูกกว่าค่ายาก็เป็นได้”
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์จึงอยากให้สมาคมฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายสุขภาพระดับชาติในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้ที่เห็นและเข้าใจปัญหาโดยตรง “สมาคมฯ ได้ริเริ่มโครงการ Best Cancer Positive Alliance และตอนนี้เริ่มมีหน่วยงานเอกชนร่วมสนับสนุน ดึงทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกัน ทั้งประชาชนคนไข้ แพทย์ หน่วยงานรัฐ เอกชน ทุกๆ ฝ่ายเลย เราเริ่มกันมา 3-4 เดือนแล้ว (ณ วันที่สัมภาษณ์เดือนธันวาคม 2564 ) เราประชุมกันทุกสองสัปดาห์ เพื่อจะทำโรดแมปสิบปี เพื่อให้เกิดความร่วมมือในหลายๆ ด้าน และลดอัตราการตายของคนไข้ หรือคุณภาพการรักษา นโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จะสนับสนุนคุณภาพการรักษาดังกล่าว โดยเราจะเริ่มกันในปีหน้า เริ่มต้นจากดึงแพทย์มาร่วมกันร่างโรดแมปกันก่อน จากนั้นปีหน้าค่อยขยายเอาผู้เกี่ยวข้องส่วนอื่นๆ มาร่วมกันทำ” อย่างไรก็ตามเส้นทางนี้อีกยาวไกล และอาจารย์บอกเราว่าต้องค่อยๆ เดิน โดยอาจารย์ให้ข้อสังเกตจากประสบการณ์การทำงานกับเราว่า
“เราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ประเภทแบบใจเร็วอยากได้เลย ทำเสร็จก็สะดุดจบ พอร่างเสร็จไม่มีใครเอาด้วย มันอยู่ที่การขายไอเดีย ทำยังไงให้ทุกคนเห็นภาพสุดท้ายคล้ายๆ กันและเอาด้วย เหมือนการนำข้อดีของหลายๆ ที่มารวมกัน คือ เรามองว่าทุกคนต่างมีของดี ให้ทุกคนมาโชว์ของ อันไหนดีเราขอลอก ขอมาเป็นต้นแบบ ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลและร่วมมือกันง่ายขึ้น แทนที่จะขึ้นต้นว่าจะทำอย่างนี้จะทำกันมั้ย ซึ่งจะไม่ค่อยเอากัน”
แล้วอย่างนี้มีอุปสรรคไหม?
“มันยากตรงที่หมอทุกคนงานหนักมาก จนจะหาเวลามาประชุมร่วมกันได้ยาก อย่างที่ประชุมทุกสองสัปดาห์ ก็จะประชุมกันตอนบ่ายสามครึ่งหรือสี่โมงช่วงที่หมอเลิกงานกัน แต่ดีที่เดี๋ยวนี้มีระบบประชุมออนไลน์ มันก็นัดคุยกันก็ง่ายขึ้น”
อาจารย์เล่าต่อว่า ได้ลาออกจากราชการเมื่อ 4-5 ปีก่อน แล้วหันมาทำโรงพยาบาลของตัวเอง เพื่อที่จะได้มีเวลาในการทำงานให้สมาคมฯ
“หมอมองว่าเป็นการบาลานซ์ชีวิตด้วย การทำประโยชน์ให้สังคม ไม่จำเป็นต้องรับราชการก็ได้นะ” หมอให้ข้อสังเกต และให้ข้อคิดเพิ่มเติม “อีกส่วนหนึ่ง หมอก็ได้แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เราคิดว่าถ้าเราออกมาทำตรงนี้ (โรงพยาบาลนมะรักษ์) ทำให้เราทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าตอนอยู่ในระบบ หรือทำประโยชน์ได้มากกว่า และได้บาลานซ์ชีวิต หมายถึง ถ้าอยู่ในระบบ งานอาจจะหนักจนเราไม่มีแรงไปทำอะไรอย่างอื่นต่อ พอออกมาตรงนี้สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่า” แรงบันดาลใจของอาจารย์คงหมายถึงการเล็งเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งนั่นเอง
“หมออยากทำโรงพยาบาลให้เหมือน Social Enterprise มากกว่าที่จะเน้นทำกำไรอย่างเดียว อย่างพอหมอมาทำเอง เราก็มีโครงการผ่าตัดมะเร็งเต้านมฟรี หรือสนับสนุนงานวิจัยด้านต่างๆ ด้วย ประกอบกับมีเวลาเทคแคร์คนรอบข้างมากขึ้น…”
วันนี้เราดีใจที่ได้มาพูดคุยกับอาจารย์ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ เราได้เห็นภาพต่างๆ ผ่านการสนทนา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดภาพของสมาคม การขยายภาพการทำงานของสมาคม การฉายภาพตัวอย่างให้คนนอกวงการอย่างเราได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงภาพรวมและผลกระทบจากผู้เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ และสุดท้าย... ที่อาจารย์ไม่สามารถบอกเราว่า ภาพสุดท้ายคืออะไร เพราะภาพสุดท้ายจะเกิดขึ้นได้ ก็จากการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย ที่จะมาช่วยกันร่างและลงมือทำไปด้วยกัน ภาพใหญ่จึงจะเกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นแค่การสนทนา แต่เรากลับได้เห็นวิสัยทัศน์ของสมาคม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน และอยากเห็นภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า เราแอบหวังว่าทุกคนที่จะมาช่วยร่างช่วยวาด จะยืนหยัดกันวาดภาพอันยิ่งใหญ่นี้กันอย่างไม่ท้อถอย
ปิดท้ายการสนทนาวันนี้ นอกจากเรื่องราวของสมาคมฯ แล้ว เรายังได้ข้อคิดและได้ทราบเป้าหมายส่วนตัวของอาจารย์ในการสร้างสมดุลของชีวิต ทั้งในเรื่องของในการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และการทำเพื่อสังคมควบคู่กันไป บทสนทนาวันนี้มีมาก มากจนและเต็มอิ่มสำหรับคนฟังอย่างเรา หวังว่าบทสนทนาในวันนี้จะเป็นทำให้คนอ่านได้เห็นภาพและรู้จักสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยมากขึ้นครับ