ณณัฏฐ์ เขมโสภต
ออย - ไอรีล ไตรสารศรี ตรวจพบเจอมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก่อนที่เธอจะเดินทางไปศึกษาปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ 1 อาทิตย์
แผนการถูกปรับเปลี่ยน เธออยู่เมืองไทยก่อน เพื่อทำการรักษาอาการป่วย คำถามผุดขึ้นในหัวของหญิงสาวในวัย 26 ปี ที่เล่นกีฬา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีบ้างที่กินดื่มและพักผ่อนน้อยตามประสาคนพึ่งจบการศึกษา ว่าทำไมคนรอบตัวที่ไม่ดูแลสุขภาพเท่าเธอ กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ พักผ่อนน้อยกว่าเธอ กลับไม่เป็นอะไร หรือทำไมผลการตรวจเลือดจากการบริจาคเลือดทุกๆ 6 เดือนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ที่ศิลปากร กลับไม่ส่งสัญญาณบอกอาการป่วยกับเธอบ้าง
เธอเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชในช่วงปลายปีพ.ศ. 2554 ทุกข์ใจที่เกิดจากโรคภัยที่ไม่ทันตั้งตัว ในสภาพร่างกายที่ไม่ได้มีปัจจัยลบใดๆ ส่งสัญญาณ กลับไม่หนักหนากว่าทุกข์ที่หนักกว่า เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่เกือบจะท่วมประเทศในปีนั้น (เมื่อ 9 ปีที่แล้ว) ซึ่งทำให้เธอเห็นทุกข์ที่หนักกว่าเดิม และเห็นทุกข์ของเพื่อนร่วมโรคเดียวกับเธอ
"จากที่เคยเดินทางจากบ้านไปรับการรักษาที่ศิริราช เราต้องหนีน้ำท่วมจากที่บ้านมีเพียงเสื้อผ้าติดตัว ย้ายไปที่โรงพยาบาลขอนแก่นเพื่อรับการรักษา อาหารการกินก็หายาก กินแต่มาม่าและปลากระป๋องประทังชีวิตเท่านั้น ตอนนั้นรู้สึกทุกข์มาก ทุกข์กว่าตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งเสียอีก เวลาไปโรงพยาบาล ก็เห็นคุณลุงคุณป้าที่เป็นเหมือนเรา แต่เขาอายุเยอะกว่าเรา โทรมกว่าเรา ยังต้องยืนรอหมอเรียกไปรักษา โรงพยาบาลแน่นไปหมด ไม่มีแม้แต่ที่นั่งสำหรับผู้ป่วยที่กำลังรอรับการรักษาด้วยคีโม หลายครั้งที่ออยเห็นที่นั่งว่างก็จะเรียกคุณลุงคุณป้ามานั่งรอ พวกเขามากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า จนแปดเก้าโมงแล้วก็ยังไม่เริ่มเรียกคิวเลย” ออยบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ตั้งแต่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านจนมาไกลถึงขอนแก่นเป็นเวลาเดือนกว่า
"เราค่อยๆ ซึมซับ เรื่องราวต่าง ๆ จนอยากที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง" นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Art for Cancer เพื่อหารายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเริ่มจากการขายผลงานศิลปะในเพจเฟสบุ๊คเพื่อนำเงินไปสมทบหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมถึงทำเสื้อ ทำกระเป๋าขายเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วย และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้กำลังใจ กำลังทรัพย์ และคำปรึกษาต่างๆ แก่ผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
ในช่วงของการเข้ารับรักษา เธอมีคำถามว่า เธอจะหายจากโรคนี้หรือไม่ หมอที่รักษาบอกว่า ต้องเฝ้าดูอาการต่ออีก 5 ปีหลังการรักษาจึงจะมั่นใจว่าเธอหายขาดจากโรคดังกล่าว โดยใน 5 ปีนั้น เธอเป็นปกติดี ได้กลับไปเรียนปริญญาโทด้าน Design Management ที่อังกฤษ และยังทำ Art for Cancer ระดมหาทุนช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนย่างเข้าปีที่ 6...
"ก็มาตรวจพบมะเร็งเต้านมอีกครั้งและลามไปที่ปอด เป็นระยะที่ 4” เราถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเจอทุกข์สภาวะซ้ำๆ แต่เธอกลับเล่าถึงอีกสภาวะหนึ่งที่เธอกังวลมากกว่า
"พอมาตรวจเจออีกรอบ เราก็มีคำถามกับตัวเอง รอบนี้เราจะอยู่ยาวถึงไหน? เราจะทำอย่างไรให้ Art for Cancer ยืนยาว? ให้โครงการสามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวของมันเอง และมีความยั่งยืนกว่าที่เป็น…"
"ครั้งแรก... พอเรารักษาเสร็จสักพัก เราก็กลับไปเรียนต่อที่อังกฤษ เราเอาเรื่อง Art for Cancer ไปเป็น Case Study ในชั้นเรียนเราด้วย อาจารย์ที่นั่นพอทราบก็เลยเอาหนังสือเกี่ยวกับ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาให้เราอ่าน ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จักเลยนะ พอกลับมาไทย ช่วงที่เราตรวจเจอมะเร็งรอบสอง ทำให้เราคิดถึงการสร้างความยั่งยืนของ Art for Cancer กับธุรกิจเพื่อสังคมที่เราได้ศึกษามาก่อนหน้า"
"ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำให้เราได้รู้จักเบล (เบลล่า- ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ผู้เขียนหนังสือ I Cancel my Cancer อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายที่รักษาจนหาย) ซึ่งจบมาทางด้านธุรกิจ ส่วนเราจบมาทางด้าน Production และ Creativity ก็มาร่วมกันทำธุรกิจเพื่อสังคมในรูปของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทำให้มีการทำงานที่เป็นระบบ มีรูปแบบ และมีความยั่งยืนกว่า"
เราทราบเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ออยและเบลล์ ทำขึ้นมานี้ น่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมลำดับแรก ๆ ของเมืองไทยที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ
ผู้ป่วยด้วย
"ตรงนี้มันจะทำอะไรได้มากกว่า ในรูปแบบของการขอรับบริจาค เราสามารถหารายได้ สร้างรายได้ สร้างกิจกรรมที่มากกว่า สามารถเข้าถึงภาครัฐ ประชาชนและเอกชน รวมถึงเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานหรือกองทุนอื่น ๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วย"
"ความชัดเจนในการบริหารงานของเรา ก็ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ทุนอุดหนุนกับเรา"
ไม่เพียงแต่เราจะได้เห็นการเติบโตในแง่ของการทำโครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการที่นำไปสู่ความยั่งยืนแล้ว เรายังได้เห็นการ "พัฒนา" วิธีการในการดูแลผู้ป่วยที่เธอเรียกว่า Art Therapy Kit "ตอนเราทำ Art for Cancer ก็เริ่มจากขายงานศิลปะ บางคนก็ไม่รู้จะซื้อแล้วไปเก็บไว้ที่ไหน เราก็เปลี่ยนมาทำของขาย เช่น เสื้อ ถุงผ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะเดียวกันหลังๆ เราก็พบว่าศิลปะเป็นภาษาสากล ที่สามารถสื่อเรื่องราวต่างๆ ในรูปแบบของศิลปะให้คนเข้าถึงได้ง่าย หรือเอามาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่ง...” ออยเว้นช่วงเหมือนจะเน้นย้ำในสิ่งที่เธอค้นพบที่มากกว่านั้น
"ในช่วงปีกว่าๆ เราได้นำศิลปะบำบัดมาปรับใช้ โดยนำไปใช้ในหลายที่ แต่ที่บ่อยสุดคือที่ศิริราช เราพบว่าศิลปะที่ผ่านมาเราใช้มันในฐานะ "สื่อ" แต่มาวันนี้มันเป็นมากกว่าสื่อ มันเป็น "เครื่องมือ” ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย เป็นตัวสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยออกมา ทำให้เราอินกับคำว่า “ศิลปะบำบัด” และนำมาสู่การพัฒนา Art Therapy Kit เมื่อกลางปี 62 ที่ผ่านมา"
"อุปกรณ์ศิลปะบำบัดของเรา สามารถช่วยผู้ป่วยใน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง - ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง รู้จักตนเอง เปิดโลกของตัวเอง เห็นจิตใจตัวเองว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เป็นการค้นพบสภาวะจิตใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การหาสาเหตุของปัญหาในตัวผู้ป่วย และสอง - เห็นคุณค่าของตนเองตรงนี้ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนของตัวเองไปในทางบวก และสามเห็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"
ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นกับผู้ป่วยหรือ? เราถามกลับ
“จริงๆ สามสิ่งที่ผู้ป่วยได้รับจากการทำศิลปะบำบัดก็คือ การตอบคำถามในสิ่งที่เขาขาด การเข้าใจตนเอง เห็นความนึกคิดของตนเอง และสามารถสะท้อนปัญหาให้ผู้ดูแลได้เข้าใจสภาพจิตใจ และช่วยให้คำแนะนำกับเขาได้อย่างทันท่วงที หรือการที่เขาเห็นคุณค่าของตนเอง และการมีเป้าหมายก็เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่”
“เพราะในการทำ Art For Cancer เรามีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. การให้กำลังใจ 2. การช่วยกำลังทรัพย์ และ 3. การให้คำปรึกษาหรือประสบการณ์ต่างๆ แก่เขา ทั้งหมดนี้ เราพบว่าใจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ก่อนการรักษาเขาต้องมีกำลังใจที่ดี มีสติที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งศิลปะช่วยเขาได้ และยิ่งพอเราได้สัมผัสและอินกับศิลปะบำบัดแล้ว ทำให้รู้ว่าการที่ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง มีเป้าหมายกับตนเอง เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่แค่ผู้รักษา ผู้ดูแล หรือคนใกล้ชิด จะให้หรือสร้างให้เขาได้ แต่เขาต้องสามารถสร้างและให้กับตนเองได้ในระดับนึง ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาการรักษา หรือช่วยให้การรักษาดีขึ้น ทันท่วงทีขึ้น”
"ตอบคำถามต่าง ๆ ในชุดกิจกรรม จะทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า เขามีความรู้สึกอย่างไร? แบบไหน? ระดับไหน? เช่น เขาอาจจะค้นพบว่าเขากำลังทุกข์ ทุกข์ในเรื่องของความกังวล กังวลในเรื่องอะไร เช่น ค่ารักษา หรือ คนรอบข้างต้องมาห่วงเขา กังวลว่าจะรักษาหายหรือไม่ ความละเอียดเหล่านี้ มันก็ทำให้เราหรือตัวเขาสามารถโฟกัสไปยังจุดที่เขากังวล และนักศิลปะบำบัดก็จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น"
"ไม่ได้ให้ปลาแต่สอนให้จับปลาด้วย" ประโยคนี้ผุดขึ้นในหัวเรา
"ไม่ได้รักษาเขาแต่ให้เขาได้รักษาตัวเองด้วย" อาจจะเป็นอีกประโยคที่ออยสร้างขึ้นมาโดยที่เธอไม่รู้ตัวก็ได้ มากไปกว่านั้น เราได้เห็นอีกมุมของการให้โอกาสผู้ป่วยได้สร้างคุณค่าของตัวเขาเองผ่านการเยียวยาตนเอง อีกทั้งเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ของการรักษาที่ยั่งยืน และส่งต่อให้ผู้ป่วยรายต่อๆ ไปได้อีกด้วย
"ปีหน้าออยก็จะไปลงเรียนศิลปะบำบัดกับครูโจ้ (พญ. พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อาจารย์ประจำหลักสูตร IPATT ของมูลนิธิศิลปะบำบัด) เพื่อมาพัฒนาเครื่องมือสำหรับผู้ป่วยคนไทย ทั้งนี้เราก็จะร่วมพัฒนาเครื่องมือที่ว่านี้กับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รักษาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ก็ได้"
จากโรคร้ายที่มาทักทายเธอเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้รังสรรค์การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเราในมิติที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ... การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ขยายขอบเขตการหารายได้มาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แทนการรอรับบริจาค หรือแม้แต่การเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในโรคต่างๆ ที่จะหันมาทำตามแบบเธอทำบ้าง
ในมิติที่ลึกลงไปกว่านั้น… Art for Cancer คือ องค์ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือ หรือเป็นผู้ให้กับผู้ป่วย แต่ยังช่วยการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสดูแลรักษาตนเอง เยียวยาตนเอง สร้างคุณค่าให้กับตนเอง และพร้อมจะเป็นผู้ให้หรือผู้ช่วยเหลือกับคนรอบข้างได้ต่อไปอีกด้วย